21-242 ภิกษุผู้ทำลายสงฆ์



พระไตรปิฎก


๕. อาปัตติภยวรรค
หมวดว่าด้วยอาปัตติภัย
๑. สังฆเภทกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ทำลายสงฆ์

{๒๔๓}[๒๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
อธิกรณ์ A ระงับแล้วหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อธิกรณ์นั้นจะระงับแต่ที่
ไหน สัทธิวิหาริกชื่อว่าพาหิยะของท่านพระอนุรุทธะมุ่งจะทำลายสงฆ์ฝ่ายเดียว เมื่อ
พระพาหิยะยังยืนยันอยู่อย่างนั้น ท่านพระอนุรุทธะก็ยังไม่พูดอะไรสักคำเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เมื่อไร อนุรุทธะจะจัดการชำระอธิกรณ์ใน
ท่ามกลางสงฆ์ อธิกรณ์ใดก็ตามที่เกิดขึ้น เธอทั้งหลายกับสารีบุตรและโมคคัลลานะ
จะต้องชำระอธิกรณ์ทั้งหมดนั้นให้ระงับไปมิใช่หรือ
อานนท์ ภิกษุผู้เลวทรามเมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๔ ประการนี้ จึงยินดี
การทำลายสงฆ์
อำนาจประโยชน์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุผู้เลวทรามในธรรมวินัยนี้เป็นคนทุศีล B มีธรรมเลวทราม ไม่
สะอาด C มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่
สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่า
เป็นพรหมจารี D เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ E
เธอคิดกังวลอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราเป็นคนทุศีล มี
ธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการ
งานปกปิด ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือน
หยากเยื่อ จักพร้อมใจกันทำลายเราเสีย F แต่ถ้าแตกแยกกัน
จักทำลายเราไม่ได้’ ภิกษุผู้เลวทรามเมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์
ที่ ๑ นี้จึงยินดีการทำลายสงฆ์
๒. ภิกษุผู้เลวทรามเป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยอันตัคคาหิกทิฏฐิ G
เธอคิดกังวลอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ประกอบด้วยอันตัคคาหิกทิฏฐิ จักพร้อมใจกันทำลายเราเสีย
แต่ถ้าแตกแยกกัน จักทำลายเราไม่ได้’ ภิกษุผู้เลวทราม เมื่อ
เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ที่ ๒ นี้ จึงยินดีการทำลายสงฆ์
๓. ภิกษุผู้เลวทรามเป็นผู้มีมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ เธอ
คิดกังวลอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราเป็นผู้มีมิจฉาอาชีวะ
เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ จักพร้อมใจกันทำลายเราเสีย แต่ถ้า
แตกแยกกันจักทำลายเราไม่ได้’ ภิกษุผู้เลวทรามเมื่อเล็งเห็นอำนาจ
ประโยชน์ที่ ๓ นี้ จึงยินดีการทำลายสงฆ์
๔. ภิกษุผู้เลวทรามปรารถนาลาภสักการะและชื่อเสียง เธอคิดกังวล
อย่างนี้ว่า ‘ถ้าพวกภิกษุจักรู้ว่า เราปรารถนาลาภสักการะและ
ชื่อเสียง จักพร้อมใจกันไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา
เรา แต่ถ้าแตกแยกกันจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’
ภิกษุผู้เลวทราม เมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ที่ ๔ นี้ จึงยินดีการ
ทำลายสงฆ์
อานนท์ ภิกษุผู้เลวทราม เมื่อเล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๔ ประการนี้แล
จึงยินดีการทำลายสงฆ์”
สังฆเภทกสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A อธิกรณ์ คือ เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระ
ธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ
การปรับอาบัติ และการเปลื้องตนให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ เช่น
ให้อุปสมบท เป็นต้น) ในที่นี้หมายถึงวิวาทาธิกรณ์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๓/๔๔๓, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา
๒/๒๔๓/๔๙๐-๔๙๑)
B ทุศีล หมายถึงไม่มีศีล (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๓/๘๖)
C ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงมีกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่สะอาด (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๓/๘๖)
D ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี หมายถึงตนเองไม่มีศีล หมดสภาพความเป็นภิกษุ แต่
ยังเรียกตนว่า “เป็นภิกษุ” แล้วร่วมอยู่ ร่วมฉันกับภิกษุอื่นผู้มีศีล ใช้สิทธิ์ถือเอาลาภที่เกิดขึ้นในสงฆ์
(องฺ.ติก.อ. ๒/๑๓/๘๖)
E หยากเยื่อ ในที่นี้หมายถึงหยากเยื่อคือกิเลสมีราคะเป็นต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๓/๘๖)
F ทำลายเราเสีย หมายถึงจักฉุดคร่าไม่ให้เข้าไปทำอุโบสถและปวารณา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๓/๔๔๓)
G อันตัคคาหิกทิกฐิ หมายถึงความเห็นที่ยึดเอาที่สุด คือ แล่นไปถึงที่สุดในเรื่องหนึ่ง ๆ มี ๑๐ ประการ คือ
เห็นว่า (๑) โลกเที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
(๖) ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน (๗) หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายแล้วตถาคต
ไม่เกิดอีก (๙) หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก (๑๐) หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีก
ก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ (ดู ข้อ ๓๘ (ปฏิลีนสูตร) หน้า ๖๒ ในเล่มนี้, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๓/๒๑๗,
องฺ.ติก.อ. ๒/๕๑/๑๕๖)
อนึ่ง คำว่า ตถาคต ในที่นี้หมายถึงอัตตา (อาตมัน) เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล มิได้
หมายถึงพระพุทธเจ้า อรรถกกถาอธิบายว่าหมายถึง สัตตะ (สัตว์) (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.