21-197 บุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน
พระไตรปิฎก
๘. อัตตันตปสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ทำตนให้เดือดร้อน
{๑๙๘}[๑๙๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ ประเภท A ไหนบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
๒. เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
๓. เป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้
เดือดร้อน
๔. เป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้
เดือดร้อน และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบใน
การทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ มีตนอันประเสริฐ เสวยสุขอยู่ในปัจจุบันเทียว
บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
เป็นอย่างไร
คือ คนเปลือยบางคนในโลกนี้ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา
เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาเจาะจงทำไว้
ไม่ยินดีกิจนิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากกระเช้า ไม่รับภิกษา
คร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษาที่
คนสองคนบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงที่กำลังให้
ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงที่คลอเคลียคน ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่
รับภิกษาในที่ที่รับเลี้ยงดูลูกสุนัข ไม่รับภิกษาในที่ที่แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับ
ปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาเฉพาะที่
เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียว รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยา
อัตภาพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ หรือรับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว
๗ คำ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษา
ในถาดน้อย ๒ ใบบ้าง ฯลฯ เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ๗ ใบบ้าง
กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้ ๒ วันบ้าง ฯลฯ กิน
อาหารที่เก็บ ค้างไว้ ๗ วันบ้าง เขาหมั่นประกอบในการบริโภคที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือน
เช่นนี้อยู่
คนเปลือยนั้นกินผักดองเป็นอาหารบ้าง กินข้าวฟ่างเป็นอาหารบ้าง กินลูก
เดือยเป็นอาหารบ้าง กินกากข้าวเป็นอาหารบ้าง กินยาง B เป็นอาหารบ้าง กินรำ
เป็นอาหารบ้าง กินข้าวตังเป็นอาหารบ้าง กินกำยานเป็นอาหารบ้าง กินหญ้าเป็น
อาหารบ้าง กินมูลโคเป็นอาหารบ้าง กินเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง กิน
ผลไม้ที่หล่นเยียวยาอัตภาพ เขานุ่งห่มผ้าป่านบ้าง นุ่งห่มผ้าแกมกันบ้าง นุ่งห่ม
ผ้าห่อศพบ้าง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้บ้าง นุ่งห่มหนังเสือบ้าง
นุ่งห่มหนังเสือที่มีเล็บติดอยู่บ้าง นุ่งห่มคากรองบ้าง นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรองบ้าง
นุ่งห่มผ้าผลไม้ กรองบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง นุ่งห่มผ้ากัมพลทำ
ด้วยขนสัตว์ร้ายบ้าง นุ่งห่มผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง ถอนผมและหนวด หมั่น
ประกอบการถอนผมและหนวดบ้าง ยืนอย่างเดียวปฏิเสธการนั่งบ้าง นั่งกระโหย่ง
ประกอบความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่งบ้าง นอนบนหนาม สำเร็จการนอนบน
หนามบ้าง อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง หมั่นประกอบการลงน้ำบ้าง เขาหมั่นประกอบ
การทำร่างกายให้เดือดร้อนหลายวิธีดังกล่าวมานี้อยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้
ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร เป็นนายพรานนก เป็น
นายพรานเนื้อ เป็นชาวประมง เป็นโจร เป็นเพชฌฆาต เป็นคนฆ่าโค เป็นผู้คุม
หรือเป็นผู้ทำกรรมอันหยาบช้าชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ทำ
ผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และ
เป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้รับมูรธาภิเษก หรือว่า
เป็นพราหมณมหาศาล เขาให้สร้างสัณฐาคารใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนคร
แล้วโกนผมและหนวด นุ่งหนังสัตว์มีเล็บ ชโลมกายด้วยเนยและน้ำมัน เกาหลัง
ด้วยเขามฤค เข้าไปสู่สัณฐาคารใหม่พร้อมด้วยมเหสีและพราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต
เขาสำเร็จการนอนบนพื้นอันปราศจากการปูลาดไว้ด้วยมูลโคสด พระราชาให้พระ
ชนม์ชีพเป็นไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๑ ของแม่โคตัวหนึ่งที่มีลูกอ่อน พระมเหสี
ให้พระชนม์ชีพเป็นไปด้วยนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๒ พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิตให้อัตภาพเป็น
ไปด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๓ พระราชาทรงบูชาไฟด้วยน้ำนมที่มีอยู่ในเต้าที่ ๔
ลูกโคให้อัตภาพเป็นไปด้วยน้ำนมที่เหลือ พระราชานั้นตรัสอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
จงฆ่าโคเท่านี้ จงฆ่าลูกโคผู้เท่านี้ จงฆ่าลูกโคเมียเท่านี้ จงฆ่าแพะเท่านี้ จงฆ่าแกะ
เท่านี้เพื่อบูชายัญ (จงฆ่าม้าเท่านี้เพื่อบูชายัญ) จงตัดต้นไม้เท่านี้เพื่อทำเสา จงเกี่ยว
หญ้าคาเท่านี้เพื่อบังและลาด’ แม้เหล่าชนทั้งที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ เป็นคนงาน
ของพระราชานั้นก็ย่อมสะดุ้งต่ออาชญา สะดุ้งต่อภัย มีหน้านองด้วยน้ำตาร้องไห้
ทำการงานอยู่ ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้ทำตนให้เดือดร้อน หมั่นประกอบใน
การทำตนให้เดือดร้อน และเป็นผู้ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น
ให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และเป็นผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว
ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
ตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น C มีความงามในท่ามกลาง D
และมีความงามในที่สุด E ประกาศพรหมจรรย์ F พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน
คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่งฟังธรรมนั้นแล้ว
ได้ศรัทธาในตถาคต ได้ศรัทธาแล้วพิจารณาเห็นว่า ‘ฆราวาส(การอยู่ครองเรือน)
คับแคบ G เป็นทางมาแห่งธุลี H บรรพชาปลอดโปร่ง I การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดแล้วนี้มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
สมัยต่อมา เขาได้ละกองโภคทรัพย์น้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่แล้ว
ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ J เสมอกับภิกษุทั้งหลาย
ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ
เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
เป็นผู้ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือ ประพฤติพรหมจรรย์ K
เว้นห่างไกลอสัทธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลาย
ฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลิน
ต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
เป็นผู้ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ
เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา
ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว ไม่ฉัน
ตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล L เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
ประโคมดนดรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง
การแต่งตัว เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาดจาก
การรับธัญญาหารดิบ M เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ เว้นขาด
จากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เว้นขาดจากการ
รับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง เว้น
ขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น และการขู่
กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที เหมือนนกบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ เธอ
ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมใน
จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู
… ดมกลิ่นทางจมูก … ลิ้มรสทางลิ้น … ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย … รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ เธอผู้ประกอบด้วยอริยอินทรีย-
สังวรอย่างนี้ จึงชื่อว่าเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การ
เหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน
การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง
การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง
ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ
พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ที่แจ้ง
ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้วก็นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย
ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ในโลก
แล้ว มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือ
พยาบาท (ความคิดร้าย) มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ
อยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
วิจิกิจฉา เธอครั้นละนิวรณ์เหล่านี้ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอนกำลัง
ปัญญาแล้ว สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒
ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐
ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ
โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลาย
ชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ และชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็น
ชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะ
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและ เกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’
เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ N
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลเป็นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน และเป็น
ผู้ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้แล
และบุคคลนั้นผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่น ให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน
เย็นใจ เสวยสุข มีตนอันประเสริฐอยู่ในปัจจุบันเทียว
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก”
อัตตันตปสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๗๔-๑๗๗/๒๐๖-๒๐๙
B ยาง (หฏะ) หมายรวมถึงสาหร่ายและยางไม้ด้วย (องฺ.ติก.อ. ๒/๙๔/๒๔๘)
C หมายถึงศีล (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙)
D หมายถึงอริยมรรค (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙)
E หมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙)
F พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐมีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน (การให้)เวยยาวัจจะ (การขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจศีล (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่มีขอบเขต) เมถุนวิรัติ (การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ (ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ (ความเพียร) อุโปสถังคะ (องค์อุโบสถ) อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) และศาสนา (พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมาย ถึงศาสนา (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒)
G ฆราวาส ชื่อว่าคับแคบ เพราะไม่มีเวลาว่างที่จะทำกุศลกรรมได้อย่างสะดวก แม้เรือนมีเนื้อที่กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คน คือ สามีภรรยา ก็ยังถือว่า คับแคบ เพราะต้องคอยห่วงใยและกังวลต่อกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๑)
H เป็นทางมาแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมองเช่นราคะเป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๒)
I บรรพชา ชื่อว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้ว หรือเทพวิมานซึ่งมี ประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย ทั้งยังมีเวลา ว่างที่จะทำกุศลกรรมได้อย่างสะดวกอีกด้วย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๘/๔๒๑-๔๒๒)
J สิกขา ในที่นี้หมายถึงอธิสีลสิกขาของภิกษุ สาชีพ ในที่นี้หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ ไว้แก่ภิกษุ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓
K ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงการงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม อันได้แก่ การร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของชาวบ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ ๆ (วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒)
L เวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามใช้เฉพาะแต่ละเรื่อง ในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือ ตั้งแต่หลังเที่ยงวัน จนถึงเวลาอรุณขึ้น (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕)
M หมายถึงธัญชาติที่มีเมล็ด มีเปลือกสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกได้ เช่น ข้าวเปลือก (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕)
N อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะ ต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ชื่อว่า อเสขบุคคล (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต