21-195 เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะ
พระไตรปิฎก
๖. สาฬหสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะ
{๑๙๖}[๑๙๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าสาฬหะและพระนามว่าอภัยเสด็จ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
เจ้าสาฬหลิจฉวีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติการข้ามโอฆะ A เพราะเหตุ
๒ อย่าง คือ (๑) เพราะสีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล) เป็นเหตุ (๒) เพราะการ
เกลียดตบะ B เป็นเหตุ ส่วนในธรรมวินัยนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สาฬหะ เรากล่าวสีลวิสุทธิแลว่า ‘เป็นองค์แห่ง
สมณธรรมอย่างหนึ่ง’ สมณพราหมณ์เหล่าใดถือการเกลียดตบะเป็นวาทะ C ถือการ
เกลียดตบะเป็นสาระ ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถ
ข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์
สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อญาณทัสสนะ D เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม E
เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรัง
ใหญ่ในป่านั้นลำต้นตรง ยังเป็นไม้อ่อน F ไม่มีที่ตำหนิ เขาพึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย
ครั้นแล้วลิดกิ่งและใบเรียบร้อยดี ถากด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขุดเป็นร่อง ขัดด้วย
ลูกหินแล้วปล่อยลงแม่น้ำ
สาฬหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะข้ามแม่น้ำนั้นไปได้หรือไม่”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่ง
เกลี้ยงเกลาในภายนอก แต่ภายในไม่เรียบร้อย บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า ไม้รังจะ
ต้องจมและบุรุษนั้นจักถึงความพินาศ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาฬหะ ข้อนี้ฉันใด สมณพราหมณ์เหล่าใดถือ
การเกลียดตบะเป็นวาทะ ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่
สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมี
ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ มีความ
ประพฤติทางใจไม่บริสุทธิ์ มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ควรเพื่อ
ญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ฉันนั้นเหมือนกัน
ส่วนพราหมณ์เหล่าใดไม่ถือการเกลียดตบะเป็นวาทะ ไม่ถือการเกลียดตบะ
เป็นสาระ ไม่ยึดมั่นการเกลียดตบะอยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นสามารถข้ามโอฆะได้
อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทาง
วาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัสสนะ เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม
เปรียบเหมือนบุรุษใคร่จะข้ามแม่น้ำ พึงถือผึ่งอันคมเข้าไปสู่ป่า เขาพบต้นรัง
ใหญ่ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังเป็นไม้อ่อน ไม่มีที่ตำหนิ เขาพึงตัดที่โคน ตัดที่ปลาย
ครั้นแล้วลิดกิ่งและใบเรียบร้อยดี ถากด้วยผึ่ง เกลาด้วยมีด ขีดแต่งด้วยสิ่ว ทำภายใน
ให้เรียบร้อย ขุดเป็นร่อง ขัดด้วยลูกหิน ทำให้เป็นเรือ ติดกรรเชียงและหางเสือแล้ว
ปล่อยลงแม่น้ำ
สาฬหะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษนั้นจะข้ามแม่น้ำได้หรือไม่”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
เจ้าสาฬหลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะต้นรังนั้นเขาแต่ง
เกลี้ยงเกลาดีในภายนอก และภายในก็เรียบร้อยดี ทำเป็นเรือ ติดกรรเชียงและ
หางเสือ บุรุษนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า เรือจักไม่จม บุรุษนั้นจักถึงฝั่งได้โดยสวัสดี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สาฬหะ ข้อนี้ฉันใด สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่ถือ
การเกลียดตบะเป็นวาทะ ไม่ถือการเกลียดตบะเป็นสาระ ไม่ยึดมั่นการเกลียดตบะ
อยู่ สมณพราหมณ์เหล่านั้นสามารถข้ามโอฆะได้ อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดมี
ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติ
ทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้นควรเพื่อญาณทัสสนะ
เพื่อความตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ฉันนั้นเหมือนกันแล
สาฬหะ เปรียบเหมือนนักรบอาชีพถึงแม้จะรู้กระบวนลูกศรเป็นอันมาก แต่
เขาจะชื่อว่าเป็นนักรบ คู่ควรแก่พระราชา เหมาะแก่พระราชา ถึงการนับว่าเป็น
ราชองครักษ์โดยแท้ด้วยองค์ ๓ ประการ
องค์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ยิงลูกศรได้ไกล ๒. ยิงไม่พลาด
๓. ทำลายกายขนาดใหญ่ได้
สาฬหะ นักรบอาชีพยิงลูกศรได้ไกลแม้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิก็ฉันนั้น
อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้
ก็ตามด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็น
นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ พิจารณาเห็นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง … สัญญาอย่างใด
อย่างหนึ่ง … สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง … พิจารณาเห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลว
หรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตามด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่น
ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
สาฬหะ นักรบอาชีพยิงไม่พลาดฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิก็ฉันนั้น
อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
สาฬหะ นักรบอาชีพทำลายกายขนาดใหญ่ได้ฉันใด อริยสาวกผู้มีสัมมา-
วิมุตติก็ฉันนั้น อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติทำลายกองอวิชชาใหญ่ได้”
สาฬหสูตรที่ ๖ จบ
เชิงอรรถ
A โอฆะหมายถึงกิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ มี ๔ประการ (คือ
(๑) กาโมฆะ โอฆะคือกาม
(๒) ภโวฆะ โอฆะคือภพ
(๓) ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ
(๔) อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘)
B เกลียดตบะ หมายถึงการรังเกียจบาปด้วยตบะ
คือ การบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อย่างกิเลส (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘)
C วาทะ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ คือ คติความเชื่อถือหรือความคิดเห็น (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๖/๒๐๒)
D ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงทัสสนะคือมรรคญาณ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘)
E ตรัสรู้ชั้นเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘)
F หมายถึงต้นไม้ที่มีแก่น แต่ยังเป็นไม้รุ่น ยังไม่เป็นไม้แก่เต็มที่ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๔๖/๔๑๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต