21-192 เจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะ



พระไตรปิฎก


๓. ภัททิยสูตร A
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะ

{๑๙๓}[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่าภัททิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ทราบมาว่า ‘พระสมณโคดมทรงมีมายา
ย่อมรู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของพวกอัญเดียรถีย์กลับใจ’ สาวกอัญเดียรถีย์เหล่านั้น
พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมทรงมีมายา ทรงรู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของ
พวกอัญเดียรถีย์กลับใจ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกเขากล่าวตามที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ ไม่ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่เป็นจริงหรือ ย่อมพยากรณ์ธรรม
สมควรแก่ธรรม และการคล้อยตามวาทะอันชอบแก่เหตุไร ๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอัน
ควรติเตียนหรือ แท้จริง ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาเถิด ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรม
เหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์’ เมื่อนั้นท่านควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย
ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ โลภะ (ความอยากได้) เมื่อเกิดขึ้น
ภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
ภัททิยลิจฉวีทูลว่า “ไม่เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้มีโลภะนี้ถูกโลภะครอบงำ
มีจิตถูกโลภะกลุ้มรุม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูด
เท็จบ้าง ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) ฯลฯ
โมหะ (ความหลง) ฯลฯ B สารัมภะ (การแข่งดี) เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
“ไม่เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้มีสารัมภะนี้ถูกสารัมภะครอบงำ มีจิตถูกสารัมภะ
กลุ้มรุม ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง ชักชวน
ผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล”
“เป็นอกุศล พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ”
“เป็นธรรมที่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียน พระพุทธเจ้าข้า”
“ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์หรือไม่ หรือท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่าอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไป
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัททิยะ เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด
ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
‘ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ที่
บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์’ เมื่อนั้น ท่าน
ควรละ(ธรรมเหล่านั้น)เสีย เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น มาเถิด ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรม
เหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์
แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข’ เมื่อนั้นท่านควรเข้าถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่เถิด
ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อโลภะ (ความไม่อยากได้) เมื่อ
เกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
“เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีโลภะนี้ ไม่ถูกโลภะครอบงำ มีจิตไม่ถูกโลภะ
กลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ชักชวนผู้
อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุข ตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย)
ฯลฯ อโมหะ (ความไม่หลง) ฯลฯ C อสารัมภะ (ความไม่แข่งดี) เมื่อเกิดขึ้นภายใน
บุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล”
“เกื้อกูล พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ก็บุรุษบุคคลผู้ไม่มีสารัมภะนี้ไม่ถูกสารัมภะครอบงำ มีจิตไม่ถูก
สารัมภะกลุ้มรุม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ
ชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็น
อกุศล”
“เป็นกุศล พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ”
“เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ”
“เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ พระพุทธเจ้าข้า”
“ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขหรือไม่
หรือท่านมีความเข้าใจในเรื่องนี้ว่าอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไป
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัททิยะ เพราะเหตุนี้แล เราจึงได้กล่าวไว้ว่า มาเถิด
ภัททิยะ ท่าน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ภัททิยะ เมื่อใดท่านพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
‘ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้
ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข’ เมื่อนั้นท่านควรเข้า
ถึง(ธรรมเหล่านั้น)อยู่เถิด เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ภัททิยะ ชนเหล่าใดในโลกเป็นคนสงบ เป็นสัตบุรุษ ชนเหล่านั้นย่อมชักชวน
สาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงกำจัดโลภะเสียเถิด เมื่อกำจัดโลภะได้
จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โลภะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดโทสะเสียเถิด เมื่อกำจัด
โทสะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โทสะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดโมหะเสียเถิด
เมื่อกำจัดโมหะได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่โมหะด้วยกาย วาจา ใจ จงกำจัดความ
แข่งดีเสียเถิด เมื่อกำจัดความแข่งดีได้ จักไม่ทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย
วาจา ใจ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต”
“ภัททิยะ เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า ‘ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเรา
เถิด เราจักเป็นศาสดาของท่านหรือ”
“ไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ บอกอย่างนี้
ด้วยถ้อยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริงว่า ‘สมณโคดมมีมายา
รู้มายาที่เป็นเหตุให้สาวกของพวกอัญเดียรถีย์มานับถือ’ ดังนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ดีนัก มายาที่เป็นเหตุให้
กลับใจนี้งามนัก ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์จะพึงกลับใจด้วยมายา
ที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่บรรดาญาติพี่น้องอัน
เป็นที่รักของข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายา
ที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่กษัตริย์ทั้งปวง
ตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์ทั้งปวง … แพศย์ทั้งปวง … ศูทรทั้งปวงจะพึง
กลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้ ข้อนี้พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทร
ทั้งปวงตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้น ภัททิยะ
คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนี้ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุ
ให้กลับใจเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่กษัตริย์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์ทั้งปวง … แพศย์ทั้งปวง …
ศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้
กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทรทั้งปวงตลอดกาลนาน
ถ้าแม้โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์จะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้เพื่อละอกุศลธรรม
เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์
ตลอดกาลนาน
ภัททิยะ ถ้าแม้พวกผู้มั่งคั่งเหล่านี้จะพึงกลับใจด้วยมายาที่เป็นเหตุให้กลับใจนี้
เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
ผู้มั่งคั่งเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้าผู้มั่งคั่งเหล่านี้ตั้งใจ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงผู้เป็น
มนุษย์ธรรมดา”
ภัททิยสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๖/๒๕๗-๒๖๑
B ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๖/๒๕๗-๒๕๘
C ดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๖/๒๖๐-๒๖๑

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.