21-189 ทรงสรรเสริญภิกษุในวันอุโบสถ
พระไตรปิฎก
๑๐. อุโปสถสูตร
ว่าด้วยทรงสรรเสริญภิกษุในวันอุโบสถ
{๑๙๐}[๑๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคาร-
มาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์
แวดล้อม ประทับนั่งในวันอุโบสถนั้น ทรงตรวจดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งเงียบ รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เงียบ ปราศจากเสียงสนทนา บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระ A
ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้เป็นเหมือนบริษัทหาได้ยากแม้เพื่อจะเห็นในโลก ภิกษุสงฆ์นี้
บริษัทนี้ก็เป็นเหมือนบริษัทผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควร
แก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ภิกษุสงฆ์นี้
บริษัทนี้ก็เป็นเหมือนบริษัทที่เขาถวายของน้อยก็มีผลมาก ที่เขาถวายของมากก็มี
ผลมากยิ่งขึ้น ภิกษุสงฆ์นี้ บริษัทนี้ก็เหมือนบริษัทที่แม้จะต้องเดินทางไปดูเป็น
ระยะทางหลายโยชน์ต้องมีเสบียงทางไปด้วยก็ควรไป
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นี้เห็นปานนี้ คือ
ในภิกษุสงฆ์นี้
๑. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นเทวดาอยู่ B
๒. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นพรหมอยู่ C
๓. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอเนญชาอยู่ D
๔. มีภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอริยะอยู่
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นเทวดา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ฯลฯ อยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ เพราะปีติจาง
คลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน
ฯลฯ อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ E ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นเทวดา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นพรหม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ … ทิศที่ ๓ …
ทิศที่ ๔ … ทิศเบื้องบน F ทิศเบื้องล่าง G ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่
ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต … มีมุทิตาจิต … มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่
๒ … ทิศที่ ๓ … ทิศที่ ๔ … ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่ว
ทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นพรหม เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอเนญชา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่
มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนด
ว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘ไม่มีอะไร’ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอเนญชา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอริยะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา’ ภิกษุทั้งหลายผู้ถึงความเป็นอริยะ เป็นอย่างนี้แล”
อุโปสถสูตรที่ ๑๐ จบ
โยธาชีววรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โยธาชีวสูตร
๒. ปาฏิโภคสูตร
๓. สุตสูตร
๔. อภยสูตร
๕. สมณสัจจสูตร
๖. อุมมัคคสูตร
๗. วัสสการสูตร
๘. อุปกสูตร
๙. สัจฉิกรณียสูตร
๑๐. อุโปสถสูตร
เชิงอรรถ
A ตั้งอยู่ในสาระ หมายถึงตั้งอยู่ในสาระคือศีลเป็นต้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๐/๔๐๙)
B หมายถึงภิกษุผู้ดำรงอยู่ในจตุตถฌานอันเป็นรูปาวจรหมุนจิตกลับแล้วจึงบรรลุอรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๐/๔๑๐)
C หมายถึงภิกษุผู้ดำรงอยู่ในพรหมวิหาร ๔ หมุนจิตกลับแล้วจึงบรรลุอรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๐/๔๑๐)
D หมายถึงภิกษุผู้ดำรงอยู่ในอรูปฌาน ๔ หมุนจิตกลับแล้วจึงบรรลุอรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๐/๔๑๐)
E ดูข้อความเต็มในข้อ ๑๖๓ (อสุภสูตร) หน้า ๒๒๙ ในเล่มนี้
F หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
G หมายถึงสัตว์นรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต