21-185 ผู้มีปัญญาไฝ่รู้
พระไตรปิฎก
๖. อุมมัคคสูตร
ว่าด้วยผู้มีปัญญาใฝ่รู้
{๑๘๖}[๑๘๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักนำมา และบุคคลย่อมลุอำนาจ
อะไรที่เกิดขึ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ A ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักนำมา
และบุคคลย่อมลุอำนาจอะไรที่เกิดขึ้นหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ โลกอันจิตนำไป อันจิตชักนำมา และบุคคล
ย่อมลุอำนาจจิตที่เกิดขึ้น”
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็นพหูสูต
เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ด้วยเหตุเพียงไรหนอ บุคคลจึงเป็น
พหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็นพหูสูต
เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึง
เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรมหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุ
รู้อรรถ รู้ธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม B ก็ควรเรียกว่า
เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม”
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้ว ได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าผู้สดับ
มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล
บุคคลจึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าผู้สดับ
มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคล
จึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลสหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปอีกว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘นี้ทุกข์ นี้
ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วย
ปัญญา บุคคลผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส เป็นอย่างนี้แล”
ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็น
บัณทิต มีปัญญามาก เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
บุคคลจึงเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาใฝ่รู้ของเธอดีนัก ปฏิภาณดีนัก
สอบถามเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกว่าเป็นบัณฑิต
มีปัญญามาก เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็น
บัณฑิต มีปัญญามากหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ บุคคลในธรรมวินัยนี้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก
ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเพื่อเบียดเบียน ๒
ฝ่าย เมื่อคิด ย่อมคิดเกื้อกูลตนเอง เกื้อกูลผู้อื่น เกื้อกูล ๒ ฝ่าย และเกื้อกูล
ชาวโลกทั้งหมดทีเดียว บุคคลเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นอย่างนี้แล”
อุมมัคคสูตรที่ ๖ จบ
เชิงอรรถ
A ปัญญาใฝ่รู้ แปลมาจากคำว่า อุมมัคคะ มีความหมายว่า ความใฝ่รู้ที่โผล่ขึ้นหาคำตอบปัญหา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๖/๔๐๖)
B ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๗ (ขิปปนิสันติสูตร) หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต