21-163 ปฏิปทาที่อดทน สูตรที่ 1



พระไตรปิฎก


๔. ปฐมขมสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่อดทน สูตรที่ ๑

{๑๖๔}[๑๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อักขมา ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่อดทน)
๒. ขมา ปฏิปทา A (ข้อปฏิบัติที่อดทน)
๓. ทมา ปฏิปทา B (ข้อปฏิบัติที่ข่มใจ)
๔. สมา ปฏิปทา C (ข้อปฏิบัติที่ระงับ)
อักขมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ด่าโต้ตอบคนที่ด่า โกรธตอบคนที่โกรธ เถียงโต้
ตอบคนที่เถียง นี้เรียกว่า อักขมา ปฏิปทา
ขมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ด่าโต้ตอบคนที่ด่า ไม่โกรธตอบคนที่โกรธ ไม่
เถียงโต้ตอบคนที่เถียง นี้เรียกว่า ขมา ปฏิปทา
ทมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ D ไม่แยกถือ E ย่อม
ปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศล-
ธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวม
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู … ดมกลิ่นทางจมูก … ลิ้มรสทางลิ้น … ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย … รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมในมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ นี้เรียกว่า
ทมา ปฏิปทา
สมา ปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สงบ
ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น … ไม่ยินดี
วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น … ไม่ยินดีบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา
ทำให้สงบ ทำให้หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี นี้เรียกว่า สมา ปฏิปทา
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
ปฐมขมสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ขมา ปฏิปทา หมายถึงอธิวาสิกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่อดกลั้นอดทน) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๖๔/๓๘๙)
B ทมา ปฏิปทา หมายถึงอินทริยทมนปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ข่มอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๖๔/๓๘๙)
C สมา ปฏิปทา หมายถึงอกุสลวิตักกวูปสมนปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเพื่อระงับอกุศลวิตก) (องฺ.จตุกฺก.อ.๒/๑๖๔/๓๘๙)
D ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๔ (สังวรสูตร) หน้า ๒๕ ในเล่มนี้
E ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (สังวรสูตร) หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.