21-161 ปฏิปทาโดยพิศดาร



พระไตรปิฎก


๒. วิตถารสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาโดยพิสดาร

{๑๖๒}[๑๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์
วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ A ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์
๕ ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า นี้เรียกว่า
ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
โดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง
โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง
โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมเสวยทุกขโทมนัส ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง
อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์
สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏแก่กล้า เพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้
ปรากฏแก่กล้า เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็ว นี้เรียกว่า
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
โดยปกติ เป็นคนไม่มีราคะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง
โดยปกติเป็นคนไม่มีโทสะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง
โดยปกติเป็นคนไม่มีโมหะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ
คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์
สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏอ่อน เพราะอินทรีย์ ๕
ประการนี้ปรากฏอ่อน เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะช้า นี้เรียกว่า
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
โดยปกติเป็นคนไม่มีราคะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากราคะเป็นประจำบ้าง
โดยปกติเป็นคนไม่มีโทสะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโทสะเป็นประจำบ้าง
โดยปกติเป็นคนไม่มีโมหะกล้า จึงไม่เสวยทุกขโทมนัส
ที่เกิดจากโมหะเป็นประจำบ้าง
อินทรีย์ ๕ ประการนี้ของเธอ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์
สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมปรากฏแก่กล้าเพราะอินทรีย์ ๕ ประการนี้
ปรากฏแก่กล้า เธอจึงบรรลุคุณวิเศษเพื่อความสิ้นอาสวะเร็ว
นี้เรียกว่า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
วิตถารสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A ปัญญินทรีย์ ในที่นี้ หมายถึง วิปัสสนาปัญญา หรือวิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ญาณที่นับเข้าใน วิปัสสนา หรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริงมี ๙ อย่าง [ได้แก่
(๑) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดและ ความดับ
(๒) ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย
(๓) ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันหยั่ง เห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
(๔) อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นโทษ
(๕) นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นด้วยความหน่าย
(๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะ พ้นไปเสีย
(๗) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นการพิจารณาหาทาง
(๘) สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
(๙) สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ ญาณอันเป็นไป โดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ]
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๖๒/๓๘๗, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๖๒/๔๒๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.