21-137 บุคคลผู้มีกายและจิตออก
พระไตรปิฎก
๘. นิกกัฏฐสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีกายและจิตออก
{๑๓๘}[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก A
๒. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก
๓. บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก
๔. บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก
บุคคลผู้มีกายออก แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่ง B และป่าทึบ C
เธอตรึกถึงกามวิตก(ความตรึกในทางกาม)บ้าง พยาบาทวิตก (ความตรึกในทาง
พยาบาท)บ้าง วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)บ้าง บุคคลผู้มีกายออก
แต่มีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
เลย แต่เธอตรึกถึงเนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)บ้าง อพยาบาทวิตก
(ความตรึกปลอดจากพยาบาท)บ้าง อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)
บ้าง บุคคลผู้มีกายยังไม่ออก แต่มีจิตออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายยังไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
และเธอตรึกถึงกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มีกายยัง
ไม่ออกและมีจิตยังไม่ออก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มีกายออกและมีจิตออก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้อาศัยเสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ
และเธอตรึกถึงเนกขัมมวิตกบ้าง อพยาบาทวิตกบ้าง อวิหิงสาวิตกบ้าง บุคคลผู้มี
กายออกและมีจิตออก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
นิกกัฏฐสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A หมายถึงบุคคลมีกายออกจากบ้าน แม้อยู่ในป่าก็ยังคิดถึงบ้าน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๓๘/๓๘๑)
B ป่าโปร่ง (อรญฺญ) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาหลักเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ธนู (อง.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
C ป่าทึบ (วนปตฺถ) หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต