21-095 บุคคลเปรียบเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า



พระไตรปิฎก


๕. ฉวาลาตสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า

{๙๕}[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๒. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง
๓. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
๔. บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น
บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น เราเรียกว่า
เป็นเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ไฟไหม้ทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ ย่อม
ไม่อำนวยประโยชน์เป็นเครื่องเรือน A ทั้งไม่อำนวยประโยชน์เป็นอุปกรณ์ในป่า B
ในบุคคล ๒ จำพวกแรกของบุคคล ๔ จำพวกเหล่านั้นข้างต้นนี้ บุคคลผู้
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองงามกว่าและประณีตกว่า
ในบุคคล ๓ จำพวกแรก บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเอง แต่ไม่ปฏิบัติ
เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นงามกว่าและประณีตกว่า
ในบุคคล ๔ จำพวก บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
ผู้อื่น เป็นเลิศ ประเสริฐที่สุด เป็นประธาน สูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด
เปรียบเหมือนนมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใส
จากเนยข้น ยอดเนยใสจากเนยใส C ยอดเนยใส ชาวโลกถือว่าเป็นเลิศในบรรดา
นมสดเป็นต้นนั้น ฉันใด
บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลตนเองและปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลผู้อื่นเป็นเลิศ ประเสริฐสุด เป็นประธาน สูงสุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ฉวาลาตสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A หมายถึงนำไปใช้เป็นไม้กลอน เสา และบันไดที่คดเป็นต้นก็ไม่ได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๔/๓๖๗)
B หมายถึงนำไปใช้เป็นเสาของกระท่อมในนา หรือเป็นขาเตียงก็ไม่ได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๔/๓๖๗)
C พัฒนาการของยอดเนยใส คือ (๑) นมสด (๒) นมส้ม (๓) เนยข้น (๔) เนยใส (๕) ยอดเนยใส (ที.สี. (แปล)๙/๔๔๐/๑๙๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.