21-093 สมาธิ สูตรที่ 2



พระไตรปิฎก


๓. ทุติยสมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ สูตรที่ ๒

{๙๓}[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่
ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้ง
ธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้ความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ควรตั้งมั่นในความสงบแห่งจิตภายใน แล้วทำ
ความเพียรเพื่อความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้
ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
ควรตั้งมั่นในความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วทำความเพียรเพื่อความสงบ
แห่งจิตภายใน สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
และได้ความสงบแห่งจิตภายใน
บุคคลผู้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญา
อันยิ่ง ควรทำความพอใจ A ความพยายาม B ความอุตสาหะ C ความขะมักเขม้น D
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่า
นั้นเถิด บุคคลนั้นทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอยให้มีประมาณยิ่ง
สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น ๆ
สมัยต่อมา บุคคลนั้นจึงได้ความสงบแห่งจิตภายในและความเห็นแจ้งธรรม
ด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรม
ด้วยปัญญาอันยิ่ง ควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้วทำความเพียร
เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ทุติยสมาธิสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ความพอใจ แปลจากคำว่า ฉันทะ หมายถึงกัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ
(ได้แก่ ฉันทะที่เป็นกลาง ๆ ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ต่างจากกามฉันทะที่เป็นแต่ฝ่ายชั่ว)(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๒/๓๖๗)
B ความพยายาม แปลจากคำว่า วายามะ หมายถึงความเพียรพยายาม (ปโยคะ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๒/๓๖๗)
C ความอุตสาหะ แปลจากคำว่า อุสสาหะ หมายถึงความเพียรที่ยิ่งกว่าความเพียรพยายาม(วิริยะ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๒/๓๖๗)
D ความขะมักเขม้น แปลจากคำว่า อุสโสฬหี หมายถึงความเพียรอย่างหนัก (มหาวิริยะ) เปรียบเหมือน การยกเกวียนขึ้นจากหล่ม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๒/๓๖๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.