21-090 ผู้พิจารณาเห็นความเกิดและดับในอุปทานขันธ์



พระไตรปิฎก


๑๐. ขันธสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์

{๙๐}[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว A
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก B
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม C
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ D
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ปรารถนาผลที่
ยอดเยี่ยมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕
ว่า ‘รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา
เป็นดังนี้ … สัญญาเป็นดังนี้ … สังขารเป็นดังนี้ … วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิด
ขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้’ แต่เธอไม่ได้สัมผัสวิโมกข์
๘ ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕
ว่า ‘รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนา
เป็นดังนี้ … สัญญาเป็นดังนี้ … สังขารเป็นดังนี้ … วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้น
แห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้’ และเธอได้สัมผัสวิโมกข์ ๘
ด้วยนามกายอยู่ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีคนขอร้องเท่านั้นจึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใครขอร้อง
ย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย ฯลฯ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงผู้ใดว่า
‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึง
เรานั้นแลว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ เพราะเรามีคนขอร้องเท่านั้น
จึงใช้สอยจีวรมาก ไม่มีใครขอร้องย่อมใช้สอยจีวรแต่น้อย ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ขันธสูตรที่ ๑๐ จบ
มจลวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. ปาณาติปาตสูตร
๒. มุสาวาทสูตร
๓. อวัณณารหสูตร
๔. โกธครุสูตร
๕. ตโมตมสูตร
๖. โอณโตณตสูตร
๗. ปุตตสูตร
๘. สังโยชนสูตร
๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
๑๐. ขันธสูตร
เชิงอรรถ
A หมายถึงเสขบุคคลผู้อยู่ด้วยความประมาท อยู่อย่างไม่ปรารภความเพียรเพื่ออรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๐/๓๖๖)
B หมายถึงเสขบุคคลผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท เริ่มทำวิปัสสนา แต่ยังไม่ได้ฌาน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๐/๓๖๖)
C หมายถึงเสขบุคคลผู้เริ่มทำวิปัสสนา อยู่ด้วยความไม่ประมาทได้วิโมกข์ ๘ ประการ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๐/๓๖๖)
D หมายถึงพระขีณาสพผู้มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๙๐/๓๖๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.