21-073 ธรรมของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ



พระไตรปิฎก


๓. สัปปุริสสูตร
ว่าด้วยธรรมของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ

{๗๓}[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔
ประการพึงทราบว่า เป็นอสัตบุรุษ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสัตบุรุษในโลกนี้ถึงไม่มีใครถามก็เปิดเผยข้อเสียหายของบุคคลอื่นได้
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอสัตบุรุษผู้ถูกถามเลย และอสัตบุรุษผู้ถูกถาม
ก็ตอบปัญหาทันที ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวถึงข้อเสีย
ของบุคคลอื่นอย่างละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’
๒. อสัตบุรุษถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อดีของบุคคลอื่น ไม่จำเป็น
ต้องพูดถึงอสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถามเลย และอสัตบุรุษผู้ถูกถามก็ตอบ
ปัญหาอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของบุคคลอื่น
ไม่ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’
๓. อสัตบุรุษถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อเสียของตน ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงอสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถาม และอสัตบุรุษผู้ถูกถามก็ตอบปัญหา
อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวถึงข้อเสียของตนไม่ละเอียดเต็มที่
นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรษ’
๔. อสัตบุรุษถึงไม่ถูกใครถามก็เปิดเผยข้อดีของตน ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงอสัตบุรุษผู้ถูกถาม และอสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหา
ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของตนอย่าง
ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลพึงทราบว่า เป็น
อสัตบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการพึงทราบว่า เป็น
สัตบุรุษ
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัตบุรุษในโลกนี้ถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อเสียของบุคคลอื่น ไม่
จำเป็นต้องพูดถึงสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็ตอบ
ปัญหาอ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวถึงข้อเสียของบุคคลอื่นอย่าง
ไม่ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
๒. สัตบุรุษถึงไม่ถูกใครถามก็เปิดเผยข้อดีของบุคคลอื่น ไม่จำเป็นต้อง
พูดถึงสัตบุรุษผู้ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหาไม่
อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของบุคคลอื่น
อย่างละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
๓. สัตบุรุษถึงไม่ถูกใครถามก็เปิดเผยข้อเสียของตน ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงสัตบุรุษผู้ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหาไม่
อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว กล่าวข้อเสียของตนอย่างละเอียดเต็มที่
นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
๔. สัตบุรุษถึงถูกใครถามก็ไม่เปิดเผยข้อดีของตน ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงสัตบุรุษผู้ไม่ถูกถาม และสัตบุรุษผู้ถูกถามก็รีบตอบปัญหา
อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวสรรเสริญข้อดีของตนอย่างไม่
ละเอียดเต็มที่ นี้พึงทราบว่า ‘ผู้นี้เป็นสัตบุรุษ’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลพึงทราบว่า เป็น
สัตบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย หญิงสะใภ้มีความละอายและเกรงกลัวมากในแม่สามี พ่อสามี
สามี รวมถึงพวกทาส กรรมกร และคนรับใช้ ตลอดช่วงเวลาคืนหนึ่งหรือวันหนึ่ง
ที่นางถูกนำมา(สู่ตระกูลสามี) สมัยต่อมา เพราะอาศัยอยู่จนคุ้นเคย จึงกล่าวกับ
แม่สามี พ่อสามี แม้กระทั่งสามีว่า ‘หลีกไป พวกท่านจะรู้เรื่องอะไรเล่า’ แม้ฉันใด
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตลอดช่วงเวลาคืนหนึ่งหรือวัน
หนึ่งที่เธอออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เธอยังมีความละอาย มีความเกรงกลัว
มากในเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รวมถึงพวกคนวัดและสมณุทเทส A
สมัยต่อมา เพราะอาศัยอยู่รวมกันจนคุ้นเคย เธอกล่าวกับอาจารย์ แม้กระทั่ง
อุปัชฌาย์อย่างนี้ว่า ‘หลีกไป พวกท่านจะรู้เรื่องอะไรเล่า’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจัก
มีใจเหมือนหญิงสะใภ้ที่มาอยู่ใหม่’ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
สัปปุริสสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A สมณุทเทส ในที่นี้หมายถึงสามเณร (วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๓๐/๕๔๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.