21-061 กรรมอันสมควร
พระไตรปิฎก
๑. ปัตตกัมมสูตร
ว่าด้วยกรรมอันสมควร
{๖๑}[๖๑] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี ดังนี้ว่า
คหบดี ธรรม ๔ ประการนี้เป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราพร้อมกับความชอบธรรม A นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๒. เราได้โภคทรัพย์พร้อมกับความชอบธรรมแล้ว ขอยศ B จงเฟื่องฟู
แก่เราพร้อมด้วยญาติ มิตร สหาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๓. เราได้โภคทรัพย์พร้อมกับความชอบธรรม ได้ยศพร้อมด้วยญาติ
มิตร สหายแล้ว ขอเราจงมีชีวิตอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็น
ธรรมประการที่ ๓ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก
๔. เราได้โภคทรัพย์พร้อมกับความชอบธรรม ได้ยศพร้อมด้วยญาติ
มิตร สหาย มีชีวิตอยู่นาน รักษาอายุให้ยั่งยืนแล้ว หลังจากตาย
แล้ว ขอให้เราเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
คหบดี ธรรม ๔ ประการนี้แลเป็นสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้
ยากในโลก
คหบดี ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ธรรม ๔ ประการนี้แลที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)
๒. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล)
๓. จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ)
๔. ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)
สัทธาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดย
ชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค” นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา
สีลสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เว้นขาด
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เรียกว่า
สีลสัมปทา
จาคสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มี
จาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา
ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลมีใจถูกอภิชฌาวิสมโลภะ C ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่
ยินดีสิ่งที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและ
ความสุข บุคคลมีใจถูกพยาบาท (ความคิดร้าย) ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศ
และความสุข มีใจถูกถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่
ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อม
จากยศและความสุข มีใจถูกอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ครอบงำอยู่
มีใจถูกวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ครอบงำอยู่ ย่อมทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่
ควรทำ เมื่อทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ยินดีสิ่งที่ควรทำ ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข
อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า ‘อภิชฌาวิสมโลภะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละอภิชฌา-
วิสมโลภะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘พยาบาททำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละ
พยาบาทที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘ถีนมิทธะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละ
ถีนมิทธะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึง
ละอุทธัจจกุกกุจจะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘วิจิกิจฉาทำให้จิตเศร้าหมอง’
จึงละวิจิกิจฉาที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่า ‘อภิชฌาวิสมโลภะทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละอภิชฌา-
วิสมโลภะที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย รู้ว่า ‘พยาบาททำให้จิตเศร้าหมอง’ … รู้ว่า
‘ถีนมิทธะทำให้จิตเศร้าหมอง’ … รู้ว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะทำให้จิตเศร้าหมอง’ … รู้ว่า
‘วิจิกิจฉาทำให้จิตเศร้าหมอง’ จึงละวิจิกิจฉาที่ทำให้จิตเศร้าหมองเสีย เมื่อนั้นอริย-
สาวกนี้ชื่อว่ามีปัญญามาก มีปัญญากว้างขวาง มองเห็นแนวทาง สมบูรณ์ด้วย
ปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา
คหบดี ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อได้ธรรม ๔ ประการนี้แล ที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
อริยสาวกนั้นแลชื่อว่าทำกรรมอันสมควร ๔ ประการด้วยโภคทรัพย์ที่หามา
ได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม D ได้มาโดยธรรม E
กรรมอันสมควร ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมบำรุงตนเอง มารดา บิดา บุตร ภรรยา
ทาส กรรมกร คนรับใช้ มิตร และอำมาตย์ให้เป็นสุข บริหารให้
เป็นสุขโดยชอบด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม
ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ ๑ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดย
สมควร ใช้สอยตามเหตุ
๒. อริยสาวกย่อมป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร
คนที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาทด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วย
ความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อ
ต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม ทำตนให้ปลอดภัย
นี้เป็นฐานะที่ ๒ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอย
ตามเหตุ
๓. อริยสาวกย่อมทำพลี F ๕ อย่าง คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี
ราชพลี เทวตาพลีด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วย
ธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึง
โดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
๔. อริยสาวกบำเพ็ญทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไป G เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี H
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ I ไว้ในสมณพราหมณ์ผู้เว้นขาดจาก
ความมัวเมาและความประมาท ผู้ดำรงมั่นอยู่ในขันติและโสรัจจะ
ฝึกอบรมตน ทำตนให้สงบ ทำตนให้ดับเย็นสนิท J ด้วยโภคทรัพย์
ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง
อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะ
ที่ ๔ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
คหบดี อริยสาวกนั้นชื่อว่าทำกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ด้วยโภคทรัพย์ที่
หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โภคทรัพย์ของใครก็ตาม หมดสิ้นไปเพราะ
กรรมอื่นนอกจากกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้ เราเรียกว่า
ถึงแล้วโดยไม่ใช่เหตุ ถึงโดยไม่สมควร ใช้สอยตามเหตุอันไม่ควร ส่วนโภคทรัพย์
ของใครก็ตาม หมดสิ้นไปเพราะกรรมอันสมควร ๔ ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้
เราเรียกว่า ถึงแล้วโดยเหตุ ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ
นรชนผู้จะต้องตายเมื่อคำนึงถึงว่า
‘โภคทรัพย์ทั้งหลายเราได้บริโภคแล้ว
คนที่ควรเลี้ยงเราได้เลี้ยงแล้ว
อันตรายทั้งหลายเราได้ข้ามพ้นแล้ว
ทักษิณาที่มีผลสูงขึ้นไปเราได้ให้แล้ว
และพลีกรรม ๕ อย่างเราได้ทำแล้ว
ท่านผู้มีศีล สำรวมระวัง
ประพฤติพรหมจรรย์เราได้บำรุงแล้ว
ประโยชน์ที่บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือนปรารถนา
เราก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กรรมที่ไม่ก่อความเดือดร้อนในภายหลังเราได้ทำแล้ว’
ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม K
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในชาตินี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
ปัตตกัมมสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A พร้อมกับความชอบธรรม หมายถึงพร้อมกับเหตุ มีตำแหน่งเสนาบดี และตำแหน่งเศรษฐีเป็นต้น (องฺ. จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๒)
B ยศ หมายถึงบริวารสมบัติ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๒)
C อภิชฌาวิสมโลภะ หมายถึงความโลภที่ไม่สม่ำเสมอ คืออภิชฌา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๒)
D ประกอบด้วยธรรม ในที่นี้หมายถึงมีกุศลธรรม ๑๐ ประการ (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๑๔/๑๐๓)
E ได้มาโดยธรรม หมายถึงสิ่งที่บุคคลดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการแเล้วได้มา (องฺ.จตุกฺก.อ.๒/๖๑/๓๕๓)
F พลี (พะลี) คือ การสงเคราะห์ บวงสรวง น้อมให้ หรือส่วย มี ๕ อย่าง คือ
(๑)ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
(๒)อติถิพลี ต้อนรับแขก
(๓)ปุพเพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
(๔)ราชพลี ถวายเป็นของหลวงมี เสียภาษีอากร เป็นต้น
(๕)เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓)
G มีผลสูงขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ ๖ ชั้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓, องฺ.จตุกฺก. ฏีกา ๒/๖๑-๖๔/๓๘๖)
H ให้ได้อารมณ์ดีในที่นี้หมายถึงอำนวยให้บังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ ๖ ชั้น(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓)
I ให้เกิดในสวรรค์ในที่นี้หมายถึงให้บังเกิดผลวิเศษ ๑๐ ประการอันดีเลิศ มีอายุ วรรณะ ยศ สุข ความเป็น ใหญ่อันเป็นทิพย์ และรูปที่น่าปรารถนาเป็นต้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๖๑-๖๔/๓๘๖)
J ทำตนให้ดับเย็นสนิท หมายถึงดับสนิทด้วยการดับกิเลส (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๓)
K อริยธรรม ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๖๑/๓๕๔)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต