21-057 สุปปวาสาโกฬิยธิดา
พระไตรปิฎก
๗. สุปปวาสาสูตร
ว่าด้วยสุปปวาสาโกฬิยธิดา
{๕๗}[๕๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุล ชื่อ
ปัชชเนละ แคว้นโกฬิยะ A ครั้นในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของสุปปวาสาโกฬิยธิดา ประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ลำดับนั้น สุปปวาสาโกฬิยธิดาได้นำของขบฉันอัน
ประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวย
เสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สุปปวาสาโกฬิยธิดาจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับสุปปวาสาโกฬิยธิดาดังนี้ว่า
สุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการแก่ปฏิคาหก
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อายุ ๒. วรรณะ
๓. สุขะ ๔. พละ
ครั้นให้อายุแล้วย่อมมีส่วนได้อายุอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้
วรรณะแล้วย่อมมีส่วนได้วรรณะอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขะแล้ว
ย่อมมีส่วนได้สุขะอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้วย่อมมีส่วนได้
พละอันเป็นทิพย์หรืออันเป็นของมนุษย์
สุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะชื่อว่าให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก
ทักษิณาคือโภชนะที่อริยสาวิกาให้
ซึ่งปรุงอย่างดี สะอาด ประณีต สมบูรณ์ด้วยรส
ชื่อว่าให้ในท่านผู้ปฏิบัติตรง
ประกอบพร้อมด้วยกิริยามารยาท B ถึงความเป็นใหญ่ C
ทักษิณานั้นเชื่อมต่อบุญกับบุญ
เป็นทักษิณามีผลมาก
ที่พระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญ
ชนผู้ระลึกถึงยัญ D เช่นนั้น
เกิดความยินดี เที่ยวไปในโลก
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้า
ไม่ถูกใครนินทา ย่อมเข้าถึงฐานะคือสวรรค์
สุปปวาสาสูตรที่ ๗ จบ
เชิงอรรถ
A หมายถึงดินแดนของกษัตริย์โกฬิยวงศ์ เป็นแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาล มีนครหลวงชื่อเทวทหะ
B กิริยามารยาท ในที่นี้หมายถึงจรณธรรม (ธรรมคือความประพฤติ, ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้บรรลุวิชชา)
๑๕ ประการ [คือ
๑. สีลสัมปทา
๒. อปัณณกสัมปทา ๓ (คือ (๑) อินทรียสังวร (๒) โภชเน มัตตัญญุตา (๓) ชาคริยานุโยค)
๓. สัทธรรม ๗ (คือ (๑) ศรัทธา (๒) หิริ (๓) โอตตัปปะ (๔) พาหุสัจจะ (๕) วิริยารัมภะ (๖) สติ (๗) ปัญญา) และ
๔. ฌาน ๔ (คือ (๑) ปฐมฌาน (๒) ทุติยฌาน (๓) ตติยฌาน (๔) จตุตถฌาน] (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๗/๓๕๑)
C ถึงความเป็นใหญ่ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๗/๓๕๑)
D ยัญ หมายถึงทาน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๗/๓๕๑)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต