21-052 ห้วงบุญกุศล สูตรที่ 2
พระไตรปิฎก
๒. ทุติยปุญญาภิสันทสูตร
ว่าด้วยห้วงบุญกุศล สูตรที่ ๒
{๕๒}[๕๒] ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ๔ A อย่างนี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้
อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ
ห้วงบุญกุศล ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวใน
พระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค” B ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ประการที่ ๑
นี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
๒. อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า
“พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึง
เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล C ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล
ประการที่ ๒ นี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล
ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ
๓. อริยสาวกประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า
“พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
ถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็น
นาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก” ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลประการ
ที่ ๓ นี้นำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดใน
สวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
๔. อริยสาวกประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ D ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศลประการที่ ๔ นี้นำสุข
มาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ภิกษุทั้งหลาย ห้วงบุญกุศล ๔ ประการนี้แลนำสุขมาให้ เป็นไปเพื่อให้ได้
อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ
ผู้ใดมีศรัทธาในตถาคตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
มีศีลงาม เป็นศีลที่พระอริยะชอบใจ(และ)สรรเสริญ
มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง E
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า
เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาเมื่อระลึกถึง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ควรหมั่นประกอบ
ศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส F และการเห็นธรรม G
ทุติยปุญญาภิสันทสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๓
B ดูเชิงอรรถที่ ๒ ในข้อ ๓๓ (สีหสูตร) หน้า ๕๒ ในเล่มนี้
C ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘, ม.ม.อ. ๓๙๙/๒๙๑)
D ศีลที่พระอริยะชอบใจ หมายถึงศีลที่ประกอบด้วยมรรคและผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
E มีความเห็นตรง หมายถึงเห็นว่าพระขีณาสพไม่มีความคดทางกายเป็นต้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
F ความเลื่อมใส หมายถึงเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
G การเห็นธรรมในที่นี้หมายถึงเห็นสัจธรรม ๔ (คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต