21-028 อริยวงศ์



พระไตรปิฎก


๘. อริยวังสสูตร
ว่าด้วยอริยวงศ์

{๒๘}[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ A ๔ ประการนี้รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
อริยวงศ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สันโดษ B ด้วยจีวรตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวร
ตามแต่จะได้ ไม่แสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ ไม่ได้จีวร
ก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง
มองเห็นโทษ C มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ และไม่ยกตน
ข่มผู้อื่นเพราะความสันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน
ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในความสันโดษด้วยจีวร
ตามแต่จะได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ
เป็นของเก่า
๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษ
ด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ ไม่แสวงหาอันไม่สมควรเพราะบิณฑบาต
เป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ
ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก
ฉันอยู่ และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความสันโดษด้วบิณฑบาตตาม
แต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง
ในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้
ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษ
ด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ ไม่แสวงหาอันไม่สมควรเพราะเสนาสนะ
เป็นเหตุ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ
ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก
ใช้สอยอยู่ และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะ
ตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติ
มั่นคงในความสันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
๔. มีภาวนาเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในภาวนา มีปหานะ (การละ) เป็นที่
รื่นรมย์ ยินดีในปหานะ และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความเป็นผู้มี
ภาวนาเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในภาวนา เพราะความเป็นผู้มีปหานะ
เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในปหานะนั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มี
สัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในภาวนาและปหานะ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
ภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้แลรู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กัน
มานาน รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง
ไม่ถูกลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการนี้ แม้จะอยู่ในทิศ
ตะวันออก ก็ครอบงำความไม่ยินดีได้ ความไม่ยินดีครอบงำเธอไม่ได้ แม้จะอยู่ใน
ทิศตะวันตก … แม้จะอยู่ในทิศเหนือ … แม้จะอยู่ในทิศใต้ ก็ครอบงำความไม่ยินดีได้
ความไม่ยินดีครอบงำเธอไม่ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเป็นนักปราชญ์ ชื่อว่า
เป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดีและความยินดีได้
ความไม่ยินดีครอบงำนักปราชญ์ D ไม่ได้
ความไม่ยินดีครอบงำนักปราชญ์ไม่ได้
แต่นักปราชญ์ครอบงำความไม่ยินดีได้
เพราะนักปราชญ์ชื่อว่าผู้ครอบงำความไม่ยินดี
ราคะหรือโทสะอะไร
จะปิดกั้นบุคคลผู้บรรเทากิเลสแล้ว
ผู้ละกรรมทุกอย่างได้เด็ดขาด
ใครเล่าจะสามารถติเตียนเขา
ผู้เป็นเหมือนแท่งทองชมพูนุท
แม้เทวดาและมนุษย์ก็สรรเสริญเขา
ถึงพรหมก็สรรเสริญเขา
อริยวังสสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A อริยวงศ์ หมายถึงวงศ์ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๘/๓๑๑)
B สันโดษ หมายถึงสันโดษด้วยจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะ, และการมีภาวนาเป็นที่รื่นรมย์ (องฺ.จตุกฺก.อ.๒/๒๘/๓๑๓-๓๒๐)
C โทษในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติเพราะการแสวงหาไม่สมควร และการบริโภคลาภที่ติดใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๘/๓๑๗)
D นักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความเพียร (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๘/๓๒๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.