21-024 พุทธกิจในกามฬการาม
พระไตรปิฎก
๔. กาฬการามสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในกาฬการาม
{๒๔}[๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กาฬการาม เขตเมืองสาเกต
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง
ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจนั้นเราก็รู้
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งที่ชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจนั้นเราก็รู้แล้ว ตถาคตรู้แจ้งรูปที่ได้
เห็นเป็นต้นนั้น อารมณ์ A นั้นไม่ปรากฏในตถาคต
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ชาว
โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจนั้นเรากล่าวว่า ‘ไม่รู้’ คำนั้นของ
เราพึงเป็นคำเท็จ
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ฯลฯ นั้น
เราพึงกล่าวว่า ‘ทั้งรู้และไม่รู้’ แม้คำนั้นพึงเป็นคำเท็จเช่นเดียวกัน
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ฯลฯ นั้น
เราพึงกล่าวว่า ‘รู้ก็มิใช่ ไม่รู้ก็มิใช่’ คำนั้นพึงเป็นโทษแก่เรา
ตถาคตเห็นรูปที่ควรเห็นแล้ว แต่ไม่สำคัญว่าได้เห็น ไม่สำคัญว่าไม่ได้เห็น ไม่
สำคัญว่าต้องได้เห็น ไม่สำคัญว่าเป็นผู้เห็น ฟังเสียงที่ควรฟังแล้ว แต่ไม่สำคัญว่า
ได้ฟัง ไม่สำคัญว่าไม่ได้ฟัง ไม่สำคัญว่าต้องได้ฟัง ไม่สำคัญว่าเป็นผู้ฟัง ทราบอารมณ์
ที่ควรทราบแล้ว แต่ไม่สำคัญว่าได้ทราบ ไม่สำคัญว่าไม่ได้ทราบ ไม่สำคัญว่าต้อง
ได้ทราบ ไม่สำคัญว่าเป็นผู้ทราบ รู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ควรรู้แจ้งแล้ว แต่ไม่สำคัญว่า
ได้รู้แจ้ง ไม่สำคัญว่าไม่ได้รู้แจ้ง ไม่สำคัญว่าต้องได้รู้แจ้ง ไม่สำคัญว่าเป็นผู้รู้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้คงที่เช่นนั้นแลในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง
อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง เรากล่าวว่า ‘บุคคลอื่นผู้คงที่ B ยิ่งกว่าหรือ
ประณีตกว่าตถาคตผู้คงที่นั้น ไม่มี’
รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ที่คนเหล่าอื่นหมกมุ่นแล้ว สำคัญกันว่าจริง
ตถาคตเป็นผู้คงที่ในรูปเป็นต้นเหล่านั้น
ที่สำรวมระวังดีแล้วด้วยพระองค์เอง
ไม่ปักใจเชื่อว่าจริงหรือเท็จ
เราเห็นลูกศรคือทิฏฐินี้ก่อนแล้ว
จึงรู้เห็นลูกศรคือทิฏฐินั้น
ที่หมู่สัตว์หมกมุ่นแล้ว ข้องอยู่อย่างนั้น
แต่ตถาคตทั้งหลายไม่มีความหมกมุ่น
กาฬการามสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A อารมณ์ หมายถึงอารมณ์ที่เป็นไปทางทวาร ๖ ไม่ปรากฏในตถาคตด้วยตัณหาและทิฏฐิ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔/๓๐๗)
B คงที่ ในที่นี้หมายถึงไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม ๘ ประการ คือ
(๑) ได้ลาภ
(๒) เสื่อมลาภ
(๓) ได้ยศ
(๔) เสื่อมยศ
(๕) นินทา
(๖) สรรเสริญ
(๗) สุข
(๘) ทุกข์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔/๓๐๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต