21-023 โลก



พระไตรปิฎก


๓. โลกสูตร
ว่าด้วยโลก

{๒๓}[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย โลก A ตถาคตตรัสรู้ B แล้ว ตถาคตพรากจากโลก ตถาคต
ตรัสรู้เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตละเหตุเกิดแห่งโลกแล้ว ตถาคตตรัสรู้ความดับแห่ง
โลก ตถาคตทำให้ประจักษ์ซึ่งความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งโลก ตถาคตบำเพ็ญข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น C เสียงที่ได้ฟัง D อารมณ์ที่ได้ทราบ E ธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้ง F ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้ในราตรีใด ปรินิพพานในราตรีใด ในระหว่างนี้ย่อมภาษิต
กล่าว แสดงออกซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ก็กล่าวอย่างนั้น ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ แผ่อำนาจไปใน
โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต‘ G
บุคคลใดรู้แจ้งโลกทั้งปวง
ตามความเป็นจริงทั้งหมด
พรากจากโลกทั้งปวง
ไม่มีกิเลสสั่งสมอยู่ในโลกทั้งปวง
บุคคลนั้นแลครอบงำอารมณ์ได้ทั้งหมด
เป็นนักปราชญ์ ปลดเปลื้องกิเลสที่ร้อยรัดได้ทั้งหมด
บรรลุนิพพานที่มีความสงบอย่างยิ่ง
ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
บุคคลนี้สิ้นอาสวะ เป็นพุทธะ H
ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้
บรรลุความสิ้นกรรมทั้งปวง
หลุดพ้นเพราะสิ้นอุปธิกิเลส
บุคคลนั้นเป็นผู้มีโชค ตรัสรู้
เปรียบเหมือนราชสีห์ที่ยอดเยี่ยม
ประกาศพรหมจักรแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
เพราะเหตุนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ I มาประชุมกัน
นมัสการพระองค์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนมัสการพระพุทธเจ้านั้น
ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้าด้วยการสรรเสริญว่า
เป็นผู้ฝึกตนที่ประเสริฐสุดในหมู่ผู้ฝึกตนทั้งหลาย
เป็นฤๅษีผู้สงบกว่าผู้สงบทั้งหลาย
เป็นผู้หลุดพ้นที่ยอดเยี่ยมกว่าผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
เป็นผู้ข้ามพ้นที่ประเสริฐกว่าผู้ข้ามพ้นทั้งหลาย
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีบุคคลที่เปรียบเทียบกับพระองค์ได้
โลกสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A โลก หมายถึงทุกขอริยสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
B ตรัสรู้ หมายถึงทำให้ประจักษ์ด้วยอรหัตตมัคคญาณ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
C รูปที่ได้เห็น ในที่นี้หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
D เสียงที่ได้ฟัง ในที่นี้หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
E อารมณ์ที่ได้ทราบในที่นี้หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ (อายตนะคือโผฏฐัพพะ) เพราะเป็นสภาวะที่บุคคลถึงแล้วจึงกำหนดได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
F ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ในที่นี้หมายถึงธรรมารมณ์มีสุขและทุกข์เป็นต้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
G ดู ที.ปา. ๑๑/๑๘๘/๑๑๗
H พุทธะ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ ๔ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๙/๓๔๗)
I สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัด ปัดเป่า บรรเทาทุกข์ภัยและกิเลส การยึดถือพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะ
ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วยทำลาย ขจัด ปัดเป่าทุกข์ภัย และกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ.หน้า ๖-๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.