21-022 พุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ 2
พระไตรปิฎก
๒. ทุติยอุรุเวลสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในตำบลอุรุเวลา สูตรที่ ๒
{๒๒}[๒๒] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อแรกตรัสรู้ เราอาศัยอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้
ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นแล พราหมณ์จำนวนมากเป็นผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร A ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม
พวกข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่
ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง ท่านพระโคดม เรื่องที่
พวกข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว เพราะท่านพระโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับพวก
พราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง การที่ท่าน
พระโคดมทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย’
เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ท่านเหล่านี้ไม่รู้จักเถระหรือธรรมที่ทำให้เป็นเถระ’
ถึงแม้นับแต่เกิดมา บุคคลจะเป็นคนแก่มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่เขา
พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย
พูดคำไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่
เหมาะแก่เวลา เขาย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นเถระผู้โง่เขลา’ โดยแท้
ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็ก ยังเป็นหนุ่มรุ่นเยาว์ มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความ
เป็นหนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย แต่เขาพูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์ พูดอิง
ธรรม พูดอิงวินัย พูดคำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
เหมาะแก่เวลา เขาย่อมถึงการนับว่า ‘เป็นเถระ B ผู้ฉลาด’ โดยแท้
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการนี้
ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ C
๓. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง D ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๔. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการนี้แล”
บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
มีความดำริไม่มั่นคงเหมือนมฤค
ยินดีในอสัทธรรม กล่าวคำไร้สาระเป็นอันมาก
มีความเห็นต่ำทราม ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ย่อมห่างไกลจากความเป็นผู้มั่นคง
ส่วนบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
มีสุตะ มีปฏิภาณ ประกอบอยู่ในธรรมที่มั่นคง
ย่อมเห็นแจ้งอรรถแห่งอริยสัจด้วยมรรคปัญญา
ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง E ไม่มีกิเลสเกาะยึดไว้
มีปฏิภาณ ละความเกิดและความตายได้แล้ว
เพียบพร้อมด้วยพรหมจรรย์
เราเรียกภิกษุผู้ไม่มีอาสวะว่า ‘เถระ’
เราเรียกภิกษุนั้นว่า ‘เถระ’ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ทุติยอุรุเวลสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A ที่สมควร(เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสม เว้นโทษการนั่ง ๖ ประการ คือ
(๑)ไกลเกินไป
(๒)ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม
(๔) สูงเกินไป
(๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป
(๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๕)
B เป็นเถระ หมายถึงผู้มีใจมั่นคง หนักแน่น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๒/๒๙๙)
C แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ หมายถึงรู้แจ้งธรรมโดยผลและเหตุด้วยปัญญา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๒/๓๐๐)
D จิตยิ่ง (อาภิเจตสิก) หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์ดียิ่ง (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๑/๓๐๐)
E ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง หมายถึงที่สุดคือฝั่ง ๖ ประการ คือ
(๑) ฝั่งอภิญญา
(๒) ฝั่งปริญญา
(๓) ฝั่งปหานะ
(๔) ฝั่งภาวนา
(๕) ฝั่งสัจฉิกิริยา
(๖) ฝั่งสมาบัติ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๒/๓๐๑)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต