21-012 บุคคลผู้มีศีล



พระไตรปิฎก


๒. สีลสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีศีล

{๑๒}[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ A เพียบพร้อมด้วยอาจาระ B และโคจร C มีปกติเห็น
ภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด เมื่อเธอทั้งหลาย
มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย จะมีกิจอะไรที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกเล่า
ถ้าภิกษุผู้กำลังเดินอยู่ ปราศจากอภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) พยาบาท
(ความคิดร้าย) ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้ง
ซ่านและร้อนใจ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)ได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน
มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่ เป็นสมาธิ
ภิกษุแม้กำลังเดินอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภ
ความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังยืน ฯลฯ
ถ้าภิกษุผู้กำลังนั่ง …
ถ้าภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่ ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ละถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม
มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่ เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่
ผู้เป็นอย่างนี้มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราก็เรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศ
กายและใจต่อเนื่องตลอดไป
ภิกษุควรเดินสำรวม ยืนสำรวม
นั่งสำรวม นอนสำรวม
คู้เข้าสำรวม เหยียดออกสำรวม
พิจารณาความเกิดและความดับแห่งธรรมขันธ์ D
ทั่วภูมิเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นต่ำ
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกภิกษุเช่นนั้น
ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ
มีสติอยู่ทุกเมื่อว่า ‘ผู้อุทิศกายและใจต่อเนื่อง’
สีลสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำ ดังนี้ สังวร หมายถึงการไม่ละเมิดทางกาย ทางวาจา ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบทที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = สิกขา + โมกขะ = ความหลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗)
B อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและทางวาจา หรือความสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิดที่พระพุทธเจ้ารังเกียจ เช่น ไม่เลี้ยงชีพ ด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่าคฤหัสถ์ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว (จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๘)
C โคจร หมายถึงสถานที่เที่ยวไปของภิกษุซึ่งไม่มีหญิงแพศยา (โสเภณี) ไม่มีหญิงหม้าย ไม่มีสาวเทื้อ (สาวแก่) ไม่มีบัณเฑาะก์ ไม่มีภิกษุณี ไม่มีร้านสุรา ไม่เป็นสถานที่ต้องคลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ และพวกเดียรถีย์ ตรงกันข้าม ต้องเป็นสถานที่ของตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวะ อบอวลด้วยกลิ่นฤๅษี มุ่งหวังความผาสุกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสถานที่ ที่ภิกษุสำรวมอินทรีย์ ๖ งดเว้นการขวนขวายในการดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น การฟ้อน ขับร้อง ประโคมดนตรี หรือหมายถึงสติปัฏฐาน ๔ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๖/๕๗๓-๕๗๔, วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗-๑๘)
D ธรรมขันธ์ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๒/๒๙๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.