21-005 บุคคลผู้ไปตามกระแส



พระไตรปิฎก


๕. อนุโสตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไปตามกระแส

{๕}[๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏ
อยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวก A ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ไปตามกระแส
๒. บุคคลผู้ไปทวนกระแส
๓. บุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น
๔. บุคคลผู้ลอยบาปข้าม B ถึงฝั่ง ดำรงอยู่บนบก C
บุคคลผู้ไปตามกระแส เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เสพกาม D และทำบาปกรรม E นี้เรียกว่าบุคคลผู้ไป
ตามกระแส
บุคคลผู้ไปทวนกระแส เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เสพกามและไม่ทำบาปกรรม แม้มีทุกข์ทางกาย
และทุกข์ทางใจ ร้องไห้น้ำตานองหน้า ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
นี้เรียกว่าบุคคลผู้ไปทวนกระแส
บุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕
ประการสิ้นไป เป็นโอปปาติกะ F ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับจากโลกนั้นอีก
นี้เรียกว่าบุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น
บุคคลผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เรียกว่าบุคคลผู้ลอย
บาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
ในโลกนี้ชนผู้ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย
ยังไม่ปราศจากราคะ บริโภคกามตามปกติ
ถูกตัณหาครอบงำ เข้าถึงชาติและชราเสมอ
ชื่อว่าผู้ไปตามกระแส
เพราะเหตุนั้นแล บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์
มีสติตั้งมั่นในโลกนี้ ไม่เสพกามและไม่ทำบาปกรรม
แม้มีทุกข์ก็ยังละกามได้
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์นั้นว่า
ผู้ไปทวนกระแส
นรชนผู้ละกิเลส ๕ ประการได้
มีสิกขาบริบูรณ์ เป็นผู้ไม่เสื่อมแน่นอน
ถึงความเชี่ยวชาญในจิต G มีอินทรีย์ตั้งมั่น
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้มีภาวะตั้งมั่น
บุคคลผู้ประกอบด้วยญาณกำจัดธรรมทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลให้สิ้นไปไม่เหลืออยู่
เป็นผู้ถึงเวท อยู่จบพรหมจรรย์
ถึงที่สุดแห่งโลก บัณฑิตเรียกว่าผู้ถึงฝั่ง H
อนุโสตสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๘๘/๒๑๖
B หมายถึงข้ามพ้นโอฆะได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕/๒๘๑)
C บนบก ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕/๒๘๑)
D เสพกาม ในที่นี้หมายถึงเสพวัตถุกาม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕/๒๘๑)
E บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการฆ่าสัตว์เป็นต้น (องฺ.จตุกฺก. อ. ๒/๕/๒๘๑)
F โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดาและสัตว์นรก (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)
G ถึงความเชี่ยวชาญในจิต คือ ถึงความมีวสีแห่งจิต ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามี (องฺ.จตุกฺก.อ.๒/๕/๒๘๑)
H ผู้ถึงฝั่ง ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพเท่านั้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕/๒๘๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.