20-143 ที่เกิดแห่งทิฐิเป็นดุจท่า



พระไตรปิฎก


๑. ติตถายตนสูตร
ว่าด้วยที่เกิดแห่งทิฏฐิเป็นดุจท่า

{๕๐๑}[๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่เกิดแห่งทิฏฐิเป็นดุจท่า A ๓
ประการ ซึ่งเมื่อถูกบัณฑิตไต่ถามซักไซ้ไล่เลียงเข้า ก็อ้างการถือสืบ ๆ กันมา ยืน
กรานอยู่ในหลักอกิริยวาทะ B
ที่เกิดแห่งทิฏฐิเป็นดุจท่า ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “สุข
ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วน
แต่มีกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ๋
๒. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “สุข
ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่
มีการเนรมิตของพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ”
๓. สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “สุข
ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่
ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย”
บรรดาสมณพราหมณ์ทั้ง ๓ จำพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนมี
กรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ” เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวอย่างนี้
ว่า “ทราบมาว่า จริงหรือ ที่ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “สุข
ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่มีกรรมที่ทำไว้ในปาง
ก่อนเป็นเหตุ” ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถูกเราถามอย่างนี้ยอมรับว่า “จริง” เรา
จะกล่าวกับท่านเหล่านั้นดังนี้ว่า “ถ้าอย่างนั้น เพราะกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นเหตุ
ท่านทั้งหลาย ก็จักเป็นคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดพรหมจรรย์ พูดเท็จ พูด
ส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา(เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) มีจิต
พยาบาท และเป็นมิจฉาทิฏฐิ”
อนึ่ง เมื่อบุคคลยึดถือกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนโดยความเป็นแก่นสารย่อมไม่มี
ความพอใจหรือความพยายามว่า “สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็เมื่อไม่ได้
กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคง ดังมากล่าวนี้ สมณวาทะที่เป็นธรรม เป็น
ของเฉพาะตัวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีสติฟั่นเฟือน ไม่มีเครื่องป้องกัน นี้แลเป็น
วาทะที่ ๑ สำหรับข่มโดยชอบธรรมของเราต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ (๑)
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่มีการ
เนรมิตของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ” เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า “ทราบมาว่า จริงหรือ ที่ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนแต่มีการ
เนรมิตของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ” ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถาม
อย่างนี้ยอมรับว่า “จริง” เราก็จะกล่าวกับท่านเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ถ้าอย่างนั้น
เพราะการเนรมิตของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นเหตุ ท่านทั้งหลายก็จักเป็นคนฆ่าสัตว์
ฯลฯ และเป็นมิจฉาทิฏฐิ”
อนึ่ง เมื่อบุคคลยึดถือการเนรมิตของพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่โดยความเป็น
แก่นสารย่อมไม่มีความพอใจหรือความพยายามว่า “สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควร
ทำ” ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจและอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคง ดังกล่าวมานี้ สมณวาทะ
ที่ชอบธรรม เป็นของเฉพาะตัว ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีสติฟั่นเฟือน ไม่มีเครื่อง
ป้องกัน นี้แลเป็นวาทะที่ ๒ สำหรับข่มโดยชอบธรรมของเราต่อสมณพราหมณ์
เหล่านั้นผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ (๒)
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า “สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัย” เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า “ทราบมาว่า จริง
หรือ ที่ท่านทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข
ที่บุรุษบุคคลนี้เสวย ทั้งหมดล้วนไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย” ถ้าท่านเหล่านั้นถูกเราถาม
อย่างนี้ ยอมรับว่า “จริง” เราก็จะกล่าวกับท่านเหล่านั้นอย่างนี้ว่า “ถ้าอย่างนั้น
เพราะไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ท่านทั้งหลายจักเป็นคนฆ่าสัตว์ ฯลฯ และเป็นมิจฉาทิฏฐิ”
อนึ่ง เมื่อบุคคลยึดถือความไม่มีเหตุโดยความเป็นแก่นสารย่อมไม่มีความ
พอใจหรือความพยายามว่า “สิ่งนี้ควรทำ หรือสิ่งนี้ไม่ควรทำ” ก็เมื่อไม่ได้กรณียกิจ
และอกรณียกิจโดยจริงจังมั่นคง ดังกล่าวมานี้ สมณวาทะที่ชอบธรรม เป็นของ
เฉพาะตัวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มีสติฟั่นเฟือน ไม่มีเครื่องป้องกัน นี้แลเป็นวาทะที่ ๓
สำหรับข่มโดยชอบธรรมของเราต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ (๓)
ภิกษุทั้งหลาย ที่เกิดแห่งทิฏฐิเป็นดุจท่า ๓ ประการ ซึ่งเมื่อถูกบัณฑิตไต่ถาม
ซักไซ้ไล่เลียงเข้า ก็อ้างการถือสืบ ๆ กันมา ยืนกรานอยู่ในหลักอกิริยวาทะ
ส่วนธรรมที่เราแสดงไว้นี้ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูก
สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
ธรรมที่เราแสดงไว้ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูก
สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน เป็นอย่างไร
คือ (๑) ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “ธาตุ ๖ ประการนี้” ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัว
หมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน (๒) ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า
“ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้” ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณ-
พราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน (๓) ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “มโนปวิจาร๑ ๑๘ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
(๔) ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “อริยสัจ ๔ ประการนี้’ ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง
ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “ธาตุ ๖ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
เพราะอาศัยอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ธาตุ ๖ ประการนี้ คือ ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน)
อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) วาโยธาตุ(ธาตุลม) อากาสธาตุ(ธาตุอากาศ)
วิญญาณธาตุ(ธาตุวิญญาณ) เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า
“ธาตุ ๖ ประการนี้” ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณ-
พราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
เพราะอาศัยอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้ คือ จักขุ(ตา)
โสตะ(หู) ฆานะ(จมูก) ชิวหา(ลิ้น) กาย(กาย) มโน(ใจ) เพราะอาศัยคำที่เรากล่าว
ไว้ว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “ผัสสายตนะ ๖ ประการนี้” ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัว
หมอง ไม่ถูกตำหนิ สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “มโนปวิจาร ๑๘ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
เพราะอาศัยอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น เพราะบุคคลเห็นรูปด้วยตาแล้วย่อมเข้าไปไตร่
ตรองรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส เข้าไปไตร่ตรองรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เข้าไป
ไตร่ตรองรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา บุคคลฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ ดมกลิ่นด้วย
จมูกแล้ว ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วย่อมเข้าไปไตร่ตรองธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส เข้าไป
ไตร่ตรองธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เข้าไปไตร่ตรองธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ธรรมที่เราแสดงว่า “มโนปวิจาร ๑๘ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
อนึ่ง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “อริยสัจ ๔ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน
เพราะอาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น เพราะถือมั่นธาตุ ๖ ประการ สัตว์จึงก้าวลง
สู่ครรภ์ เมื่อมีการก้าวลงสู่ครรภ์ นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ
จึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ก็เรา
บัญญัติไว้ว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ และนี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”
แก่บุคคลผู้เสวยอารมณ์อยู่
ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ แม้ชาติ(ความเกิด)ก็เป็นทุกข์ แม้ชรา(ความแก่)ก็เป็นทุกข์ แม้มรณะ(ความ
ตาย)ก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ(ความโศก) แม้ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์
กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ)ก็เป็นทุกข์ ความประสบกับ
สิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนา
สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
ทุกขสมุทัยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสจึงมี
กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีความเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย-
อริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาสำรอกดับไป สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีความดับด้วยอาการอย่างนี้ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ-
อริยสัจ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ธรรมที่เราแสดงไว้ว่า “อริยสัจ ๔ ประการนี้”
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ ไม่มัวหมอง ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้งคัดค้าน เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ติตถายตนสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ที่เกิดแห่งทิฏฐิเป็นดุจท่า (ติตถะ) หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการที่เรียกว่า “ท่า” เพราะเป็นที่อันสัตว์ ทั้งหลายข้ามไป ลอยไป และเร่ร่อนไปด้วยการผุดขึ้นและดำลงไม่มีที่สิ้นสุด (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๒/๑๗๓, องฺ. ติก.ฏีกา ๒/๖๒/๑๗๙)
B อกิริยวาทะ ในที่นี้หมายถึงลัทธิที่ถือว่าการกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เป็น ความเห็นที่ปฏิเสธกฏแห่งกรรม (ที.สี.อ. ๑๖๖/๑๔๕)
C มโนปวิจาร หมายถึงการพิจารณาแห่งใจในฐานะ ๑๘ ประการ คือที่ตั้งแห่งโสมนัส ๖ ประการ ที่ตั้งแห่ง โทมนัส ๖ ประการ และที่ตั้งแห่งอุเบกขา ๖ ประการ (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๒/๑๗๖, องฺ.ติก.ฎีกา ๒/๖๒/๑๘๒)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.