20-140 พราหมณ์ชื่อ ติกัณณะ



พระไตรปิฎก


๘. ติกัณณสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อติกัณณะ

{๔๙๘}[๕๙] ครั้งนั้น ติกัณณพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กล่าวสรรเสริญคุณของพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
ว่า “พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เป็นอย่างนี้ พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ เป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์
ว่าเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นอย่างไร”
ติกัณณพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ในโลกนี้
เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว
บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล เป็นผู้คงแก่เรียน
ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท A พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ B เกฏุภศาสตร์ C อักษรศาสตร์
และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ D และลักษณะ
มหาบุรุษ ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ว่าเป็นผู้ได้
วิชชา ๓ เป็นอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ว่าเป็นผู้ได้
วิชชา ๓ เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
ติกัณณพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัย
เป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าอย่างที่
ผู้ได้วิชชา ๓ มีในอริยวินัย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ติกัณณพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่อง
นี้ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและ
สุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า “ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข” เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน E ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิต
ไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป F เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้
ภิกษุนั้นระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เธอ
ได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ ความมืดมิด G คืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือ
วิชชา H ได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มี
ความเพียร อุทิศกายและใจ
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป
เพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่ผู้สัตว์กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมว่า “หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขา หลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต
วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้
ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” เธอ
เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิด
ไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้
เธอได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ความมืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือ
วิชชา I ได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มี
ความเพียร อุทิศกายและใจ
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป
เพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้ ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์)
นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)”
“นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย(เหตุเกิดอาสวะ) นี้อาสวนิโรธ(ความดับอาสวะ) นี้อาสว-
นิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ)” เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิต
ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า
หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จ
แล้ว J ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป K” ได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ความ
มืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชา L ได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบ
เหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
จิตของพระโคดมพระองค์ใด
ผู้มีศีลไม่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ
มีปัญญาและมีความเพ่งพินิจ
เป็นจิตมีความชำนาญแน่วแน่ เป็นสมาธิดี
พระโคดมพระองค์นั้น
บัณฑิตกล่าวว่าบรรเทาความมืดได้
เป็นนักปราชญ์ ได้วิชชา ๓ ละทิ้งมัจจุราช
เกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ ละบาปธรรมได้ทุกอย่าง
สาวกทั้งหลายย่อมนมัสการพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓ ไม่ลุ่มหลง
เป็นพระพุทธเจ้ามีสรีระเป็นชาติสุดท้าย
บุคคลใดรู้แจ้งปุพเพนิวาสญาณ เห็นทั้งสวรรค์
และอบาย บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นความเกิด เป็นมุนี
อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ยิ่ง เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓
โดยวิชชา ๓ นี้ เราเรียกบุคคลนั้นว่าได้วิชชา ๓
ไม่เรียกบุคคลอื่นว่าได้วิชชา ๓ ตามที่ผู้อื่นเรียกกัน
พราหมณ์ ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอย่างนี้แล
ติกัณณพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวก
พราหมณ์เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง ข้าแต่
ท่านพระโคดม ก็ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของผู้ได้
วิชชา ๓ ในอริยวินัยนี้
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอ
ท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต
ติกัณณสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A ไตรเพท ในที่นี้หมายถึงฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)
B นิฆัณฑุศาสตร์ วิชาว่าด้วยชื่อสิ่งของมีต้นไม้เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)
C เกฏุภศาสตร์ หมายถึงตำราว่าด้วยวิชาการกวี การแต่งฉันท์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)
D โลกายตศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์โดยการ อ้างทฤษฎีและประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่อย่างใด (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒)
E กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ตกต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ เช่น ต้องย้อนไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น
F สังวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเสื่อม ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเจริญ ได้แก่ ช่วงระยะ เวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)
G ความมืดมิด ในที่นี้หมายถึงโมหะที่ปิดบังไม่ให้ระลึกชาติได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔)
H วิชชา ในที่นี้หมายถึงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในกาลก่อน (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔)
I วิชชา ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณ คือญาณที่สามารถเล็งเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปต่าง ๆ กัน เพราะอำนาจ กรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จุตูปปาตญาณ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๑๔)
J กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์ การละเหตุเกิดทุกข์ การทำให้แจ้ง ซึ่งความดับทุกข์และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๓/๒๐๓)
K ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความสิ้น กิเลสอีกต่อไป เพราะพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุอรหัตผล เป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓)
L วิชชา ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมัคคญาณ ได้แก่ ญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ หรือ อาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.