20-132 องค์ประกอบของมหาโจร



พระไตรปิฎก


๑๑. มหาโจรสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของมหาโจร

{๔๙๐}[๕๑] ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมงัดแงะบ้าง
ทำการปล้นบ้าง ล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในทางเปลี่ยวบ้าง
องค์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
มหาโจรในโลกนี้
๑. อาศัยที่ขรุขระ
๒. อาศัยป่ารก
๓. อาศัยผู้มีอิทธิพล
มหาโจรอาศัยที่ขรุขระ เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยเกาะแก่งแห่งแม่น้ำหรือที่ขรุขระแห่งภูเขา มหาโจร
อาศัยที่ขรุขระ เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรอาศัยป่ารก เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยป่ารกด้วยหญ้าบ้าง ป่ารกด้วยต้นไม้บ้าง ป่าที่มี
แนวป้องกันบ้าง แนวป่าใหญ่บ้าง มหาโจรอาศัยป่ารก เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างไร
คือ มหาโจรในโลกนี้อาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เขาคิด
อย่างนี้ว่า “ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา
เหล่านี้ก็จักว่าคดีความช่วยปกป้องเรา” ถ้าใครกล่าวหาอะไรมหาโจรนั้น พระราชา
หรือมหาอำมาตย์ของพระราชานั้นต่างก็ว่าคดีความช่วยปกป้องเขา มหาโจรอาศัยผู้
มีอิทธิพล เป็นอย่างนี้แล
มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๓ เป็นประการนี้แล ย่อมงัดแงะบ้าง ทำการ
ปล้นบ้าง ล้อมปล้นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในทางเปลี่ยวบ้าง ฉันใด
ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมบริหารตนให้
ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็น
อันมาก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้
๑. อาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา
๒. อาศัยกรรมที่เร้นลับ
๓. อาศัยผู้มีอิทธิพล
ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่ตรง
ไปตรงมา ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วอาศัยกรรมที่เร้นลับ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ A ภิกษุ
ชั่วอาศัยกรรมที่เร้นลับ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วอาศัยผู้มีอิทธิพล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุชั่วในธรรมวินัยนี้อาศัยพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ภิกษุ
นั้นคิดอย่างนี้ว่า “ถ้าใครจักกล่าวหาอะไรเรา พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระ
ราชาเหล่านี้ก็จักว่าคดีความช่วยปกป้องเรา” ถ้าใครว่ากล่าวอะไรภิกษุนั้น พระราชา
หรือมหาอำมาตย์ของพระราชานั้นต่างก็ว่าคดีความช่วยปกป้องเธอ ภิกษุชั่วอาศัยผู้
มีอิทธิพล เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุชั่วประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูก
ทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
มหาโจรสูตรที่ ๑๑ จบ
จูฬวรรคที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A อันตคาหิกทิฏฐิ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือเห็นว่า
(๑) โลกเที่ยง
(๒) โลกไม่เที่ยง
(๓) โลกมีที่สุด
(๔) โลกไม่มีที่สุด
(๕) ชีวะกับสรีระ เป็นอย่างเดียวกัน
(๖) ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่าง
(๗) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก
(๘) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก
(๙) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่
(๑๐) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่
(อง.ทสก. ๒๔/๙๓/๑๔๙, องฺ.ติก.อ. ๒/๕๑/๑๕๖) ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะหรืออาตมัน (Soul)(ตามนัย อภิ.ปญฺจ. ๑/๑/๑๒๙) ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา(อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายหมายถึงสัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘))

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.