20-118 ท้าวมหาราชทั้ง 4



พระไตรปิฎก


๘. จตุมหาราชสูตร
ว่าด้วยท้าวมหาราชทั้ง ๔

{๔๗๖}[๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ในวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ เทวดาผู้เป็นบริวาร ผู้ช่วยเหลือ
ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลมารดา
เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำ
อุโบสถ A อยู่จำปฏิชาครอุโบสถ B ทำบุญ C กันอยู่ มีอยู่มากหรือหนอ
ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักษ์ บุตรของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า
ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์
อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำอุโบสถ อยู่จำปฏิชาครอุโบสถ ทำบุญกันอยู่ มี
อยู่มากหรือหนอ
ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกนี้ด้วยตัวเองว่า
ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์
อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำอุโบสถ อยู่จำปฏิชาครอุโบสถ ทำบุญกันอยู่ มี
อยู่มากหรือหนอ
ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูล
พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำอุโบสถ อยู่จำปฏิชาครอุโบสถ ทำ
บุญกันอยู่ มีอยู่น้อย
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ย่อมรายงานเหตุนั้นแก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่นั่งประชุม
ร่วมกันในสภาชื่อสุธัมมาว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ผู้เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา
เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำอุโบสถ อยู่จำ
ปฏิชาครอุโบสถ ทำบุญกันอยู่ มีจำนวนน้อย
เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์จึงพากันเสียใจว่า “หมู่เทพจักเสื่อม
หมู่อสูรจักบริบูรณ์”
ก็ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ผู้เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ
เกื้อกูลพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำอุโบสถ อยู่จำปฏิชาครอุโบสถ
ทำบุญกันอยู่ มีจำนวนมาก
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ย่อมรายงานเหตุนั้นแก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่นั่งประชุม
ร่วมกันในสภาชื่อสุธัมมาว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ผู้เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา
เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อยู่จำอุโบสถ อยู่จำ
ปฏิชาครอุโบสถ ทำบุญกันอยู่ มีจำนวนน้อย
เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์จึงพากันดีใจว่า “หมู่เทพจักบริบูรณ์
หมู่อสูรจักเสื่อม”
{๔๗๗} เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อแนะนำพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ได้
ตรัสคาถานี้ในเวลานั้นว่า
นรชนแม้ใดผู้เช่นกับเราพึงอยู่จำอุโบสถ
ประกอบด้วยองค์ ๘ D สิ้นวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ
และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ E
คาถานี้ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ขับไม่ดี กล่าวผิด กล่าวไม่ดี ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพ ยังไม่ปราศจากราคะ ไม่ปราศจากโทสะ
ไม่ปราศจากโมหะ
ส่วนภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว F บรรลุประโยชน์ตน G โดยลำดับแล้ว
สิ้นภวสังโยชน์ H แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นควรกล่าวคำว่า
นรชนแม้ใดผู้เช่นกับเราพึงอยู่จำอุโบสถ
ประกอบด้วยองค์ ๘ สิ้นวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ
และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจาก
โมหะ
จตุมหาราชสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A อยู่จำอุโบสถ ในที่นี้หมายถึงอธิษฐานอยู่จำอุโบสถศีล กล่าวคือศีล ๘ เดือนละ ๘ ครั้ง (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๗)
B ปฏิชาครอุโบสถ หมายถึงการรักษาอุโบสถศีลในวันรับและวันส่ง วันรับคือ วัน ๔ ค่ำ, ๗ ค่ำ และ ๑๓ ค่ำ สำหรับเดือนขาด หรือวัน ๑๔ ค่ำ สำหรับเดือนเต็ม วันส่งคือ ๖ ค่ำ, ๙ ค่ำ และ ๑ ค่ำ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๗)
C ทำบุญ ในที่นี้หมายถึงการถึงสรณะว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก รักษาศีล บูชาด้วยดอกไม้ ฟังธรรม จุดประทีปพันดวง และการสร้างวิหาร (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๘)
D องค์ ๘ ในที่นี้หมายถึงศีล ๘
E ปาฏิหาริยปักษ์ ในที่นี้หมายถึงอุโบสถที่รักษาประจำตลอด ๓ เดือน ภายในพรรษา ถ้าไม่อาจรักษา ๓ เดือนได้ก็รักษา ๑ เดือน ในระหว่างวันปวารณาทั้งสอง หรือถ้าไม่อาจรักษาได้ถึง ๑ เดือน ก็รักษาตลอดครึ่งเดือนตั้งแต่วันปวารณาต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)
F ปลงภาระได้แล้ว ในที่นี้หมายถึงปลงขันธภาระได้ ปลงกิเลสภาระได้ และปลงอภิสังขารภาระได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)
G บรรลุประโยชน์ตน ในที่นี้หมายถึงบรรลุพระอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)
H สิ้นภวสังโยชน์ หมายถึงสิ้นกิเลสที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ คร่าสัตว์มาไว้ในภพทั้งหลาย (องฺติก.อ. ๒/๓๘/๑๓๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.