20-115 หัตถกกุมารทูลถามถึงความสุข



พระไตรปิฎก


๕. หัตถกสูตร
ว่าด้วยหัตถกกุมารทูลถามถึงความสุข

[๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
{๔๗๔} สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนที่ลาดใบไม้ในสีสปาวัน
(ป่าไม้สีเสียด)ใกล้ทางเดินของโค เขตกรุงอาฬวี
ครั้งนั้น หัตถกกุมารชาวกรุงอาฬวี เดินพักผ่อนอิริยาบถ ได้เห็นพระผู้มีพระ
ภาคประทับนั่งบนที่ลาดใบไม้ในสีสปาวัน ใกล้ทางเดินของโค จึงเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระองค์ทรงอยู่สุขสบายดีหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่างนั้น กุมาร เราอยู่เป็นสุขดี และเราเป็น
หนึ่งในบรรดาคนที่อยู่เป็นสุขในโลก”
หัตถกกุมารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีในฤดูหนาวตั้งอยู่ใน
ระหว่าง A เป็นสมัยที่หิมะตกพื้นดินแข็ง แตกระแหง ที่ลาดใบไม้บาง ใบไม้ทั้งหลาย
อยู่ห่างกัน ผ้ากาสายะ(ผ้าย้อมน้ำฝาด)เย็น และลมเวรัมภะ B ที่เยือกเย็นก็กำลังพัด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ว่า “อย่างนั้น กุมาร เราอยู่สุขสบายดี
เราเป็นหนึ่งในบรรดาคนที่อยู่เป็นสุขในโลก”
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปอีกว่า “ถ้าอย่างนั้นในเรื่องนี้ เราจักย้อนถามเธอ
เธอพึงตอบปัญหานั้นตามที่เธอชอบใจ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร เรือนยอด C ของ
คหบดีหรือบุตรคหบดีในโลกนี้ที่เขาโบกทั้งภายในและภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้
มีบานประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ในเรือนยอดนั้นพึงมีบัลลังก์ D ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ E
ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนเเกะสีขาว ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะลายดอก
ไม้ ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดง
วางไว้ทั้ง ๒ ข้าง F และประทีปน้ำมันส่องสว่างอยู่ในเรือนนี้ ประชาบดี ๔ นาง
พึงบำรุงด้วยวิธีที่น่าชอบใจ น่าพอใจ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คหบดีหรือบุตร
คหบดีนั้นพึงอยู่เป็นสุขหรือไม่ หรือเธอเข้าใจในเรื่องนี้อย่างไร”
“คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นพึงอยู่เป็นสุข และเขาเป็นคนหนึ่งในบรรดาคนที่
อยู่เป็นสุขในโลก พระพุทธเจ้าข้า”
“กุมาร เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ความเร่าร้อนทางกายหรือทางใจที่เกิด
เพราะราคะซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกแผดเผาอยู่เป็นทุกข์ พึงเกิดขึ้นแก่คหบดีหรือบุตร
คหบดีนั้นบ้างไหม”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“กุมาร คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นถูกความเร่าร้อนที่เกิดเพราะราคะใดแผดเผา
อยู่พึงอยู่เป็นทุกข์ ราคะนั้นตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนได้เหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น
เราจึงอยู่เป็นสุข กุมาร เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ความเร่าร้อนทางกายหรือทางใจ
ที่เกิดเพราะโทสะ ฯลฯ ความเร่าร้อนทางกายหรือทางใจที่เกิดเพราะโมหะ ซึ่งเป็น
เหตุให้ผู้ที่ถูกแผดเผาอยู่เป็นทุกข์ พึงเกิดขึ้นแก่คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นบ้างไหม”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“กุมาร คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นถูกความเร่าร้อนที่เกิดจากโมหะใดแผดเผา
อยู่ โมหะนั้นตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนได้เหมือนต้นตาลที่ถูกตัด
รากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น
เราจึงอยู่เป็นสุข”
พราหมณ์ G ผู้ดับกิเลสแล้วย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
ผู้ไม่ติดอยู่ในกาม H เป็นคนเยือกเย็น
ไม่มีอุปธิกิเลส ตัดกิเลสเครื่องข้องทุกอย่างแล้ว
พึงกำจัดความกระวนกระวายในใจ
เข้าถึงความสงบ๓ย่อมอยู่เป็นสุข
หัตถกสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ราตรีในฤดูหนาวตั้งอยู่ในระหว่าง หมายถึงช่วงระยะเวลา ๘ วันที่มีหิมะตก คือช่วงระหว่าง ๔ วัน ปลายเดือน ๓ กับ ๔ วันต้นเดือน ๔ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๑)
B ลมเวรัมภะ หมายถึงลมที่พัดมาจาก ๔ ทิศพร้อม ๆ กัน ส่วนลมที่พัดมาจากทิศใดทิศหนึ่ง ไม่เรียกว่า ลมเวรัมภะ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๑)
C เรือนยอด คือเรือนที่มีหลังคาทรงสูง (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๑)
D บัลลังก์ ในที่นี้หมายถึงเตียงมีเท้าแกะสลักเป็นรูปสัตว์ร้าย (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
E ผ้าโกเชาว์ หมายถึงผ้าที่ทำด้วยขนแพะหรือขนแกะผืนใหญ่ มีขนยาวเกิน ๔ นิ้ว (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
F หมอนสีแดงวางไว้ทั้ง ๒ ข้าง นี้หมายถึงหมอนที่ใช้สำหรับหนุนศีรษะ ๑ ใบ และใช้หนุนเท้า ๑ ใบ วางไว้ส่วนศีรษะและส่วนเท้า (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙-๑๗๐)
G พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้สิ้นอาสวะ ลอยบาปได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๒)
H ไม่ติดอยู่ในกาม ในที่นี้หมายถึงไม่ติดอยู่ในวัตถุกามและกิเลสกามด้วยอำนาจกิเลสคือตัณหาและ มิจฉาทิฏฐิ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๒)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.