20-094 ความเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิและพระพุทธเจ้า



พระไตรปิฎก


๔. จักกวัตติสูตร
ว่าด้วยความเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิและพระพุทธเจ้า

{๔๕๓}[๑๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา ย่อมไม่ทรงให้จักรที่มิใช่ของพระราชาหมุนไป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระ
ภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ธรรม A เป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรง
ธรรม เป็นธรรมราชา” แล้วตรัสต่อไปว่า
๑. พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาในโลกนี้ ทรงอาศัย
ธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม
ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง
ชนภายใน B โดยธรรม
๒. พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น
สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม
มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพวกกษัตริย์
ผู้ตามเสด็จ กำลังพล พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท
สมณพราหมณ์ สัตว์จำพวกเนื้อ และนกโดยธรรม
๓. พระเจ้าจักรพรรดินั้นแลผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรม
เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม
ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครอง
ชนภายใน พวกกษัตริย์ … กำลังพล … พราหมณ์ คหบดี … ชาวนิคม
ชาวชนบท … สมณพราหมณ์ … สัตว์จำพวกเนื้อ และนกโดยธรรม
แล้วจึงให้จักรหมุนไปโดยธรรมเท่านั้น จักร C นั้นใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์
เป็นข้าศึก และเป็นสัตว์มีชีวิต ให้หมุนกลับไม่ได้
ในทำนองเดียวกัน
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา D ทรง
อาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชู
ธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และ
คุ้มครองกายกรรมโดยธรรมว่า “กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ E กายกรรม
เช่นนี้ไม่ควรเสพ”
๒. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรง
อาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชู
ธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และ
คุ้มครองวจีกรรมโดยธรรมว่า “วจีกรรมเช่นนี้ควรเสพ วจีกรรมเช่นนี้
ไม่ควรเสพ”
๓. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรง
อาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชู
ธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และ
คุ้มครองมโนกรรมโดยธรรมว่า “มโนกรรมเช่นนี้ควรเสพ มโนกรรม
เช่นนี้ไม่ควรเสพ”
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแลผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา
ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม
ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองกายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรมโดยธรรมแล้วจึงทรงให้ธรรมจักรที่ยอดเยี่ยมหมุนไปโดย
ธรรมเท่านั้น จักร F นั้นอันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกให้หมุนกลับไม่ได้
จักกวัตติสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ จัดเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดิ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๗)
B ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)
C จักร ในที่นี้หมายถึงอาณาจักรที่พระเจ้าจักรพรรดิให้หมุนไปด้วยธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ อัน
ใคร ๆ จะให้หมุนกลับโดยไม่ให้มีกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการไม่ได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)
D ธรรมราชา เป็นพระนามของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึงพระผู้ทรงให้มหาชนยินดีด้วย
โลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) ดูประกอบใน องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘
E คำว่า เสพ ดูเชิงอรรถที่ ๑ อัจฉราสังฆาตวรรค ข้อ ๕๓ เอกกนิบาต หน้า ๑๐ ในเล่มนี้
F จักร ในที่นี้หมายถึงธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่พระพุทธองค์ทรงให้หมุนไปโดยนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
อันใคร ๆ ไม่สามารถให้หมุนกลับได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.