20-081 ผู้เป็นภัยและไม่เป็นภัย



พระไตรปิฎก


๑. ปฐมปัณณาสก์
๑. พาลวรรค หมวดว่าด้วยคนพาลและบัณฑิต
๑. ภยสูตร ว่าด้วยผู้เป็นภัยและไม่เป็นภัย

{๔๔๐}[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึง
ได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภัย A ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต
อุปัททวะ B ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปสรรค C ที่
เกิดขึ้นทั้งสิ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต
ภัยที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปัททวะที่เกิด
ขึ้นทั้งสิ้น ล้วนเกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต อุปสรรคที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น ล้วน
เกิดจากคนพาล มิใช่เกิดจากบัณฑิต เปรียบเหมือนไฟที่ลุกลามจากเรือนไม้อ้อหรือ
เรือนหญ้า ไหม้แม้เรือนยอดที่เขาโบกทั้งภายในและภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้ มีบาน
ประตูปิดมิดชิด หน้าต่างปิดสนิท ฉะนั้น
คนพาลมีภัย บัณฑิตไม่มีภัย คนพาลมีอุปัททวะ บัณฑิตไม่มีอุปัททวะ คน
พาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ภัยไม่มีจากบัณฑิต อุปัททวะไม่มีจากบัณฑิต
อุปสรรคไม่มีจากบัณฑิต
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “บุคคลประกอบด้วย
ธรรม ๓ ประการใด พึงทราบว่า เป็นคนพาล เราจักประพฤติเว้นธรรม ๓ ประการ
นั้น บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการใด พึงทราบว่า เป็นบัณฑิต เราจักถือ
ปฏิบัติธรรม ๓ ประการนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ภยสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ภัย ในที่นี้หมายถึงความมีจิตสะดุ้งกลัว เช่น การได้ทราบข่าวว่าโจรจะปล้นแล้วเกิดความหวาดสะดุ้ง
(องฺ.ติก.อ. ๒/๑/๗๗)
B อุปัททวะ ในที่นี้หมายถึงภาวะที่จิตฟุ้งซ่าน เช่น เมื่อรู้ว่าโจรจะปล้นก็เกิดความระส่ำระสายพยายามจะ
หนีพร้อมกับขนข้าวของไปด้วยเท่าที่พอจะติดมือไปได้ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑/๗๗)
C อุปสรรค ในที่นี้หมายถึงอาการที่มีความขัดข้อง เช่น การถูกโจรล้อมบ้านจุดไฟปิดประตูไม่ให้หนีไปได้
แล้วฆ่าปล้นเอาทรัพย์ทั้งหมดไป (องฺ.ติก.อ. ๒/๑/๗๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.