20-032 โทษ



พระไตรปิฎก


๑. ปฐมปัณณาสก์
๑. กัมมกรณวรรค หมวดว่าด้วยวิธีการลงโทษ
๑. วัชชสูตร ว่าด้วยโทษ

{๒๔๗}[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๒ ประการนี้
โทษ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โทษที่ให้ผลในภพนี้ ๒. โทษที่ให้ผลในภพหน้า
โทษที่ให้ผลในภพนี้ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นพระราชารับสั่งให้จับโจรผู้มักประพฤติชั่วแล้วให้
ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ตะบอง
บ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหู
และจมูกบ้าง ทำให้เป็นภาชนะสำหรับรองหม้อน้ำข้าวบ้าง ทำให้เกลี้ยงเกลาเหมือน
สังข์บ้าง ทำให้มีปากเหมือนปากราหูบ้าง ทำให้มีพวงมาลัยไฟบ้าง ทำให้มือมีไฟลุก
โชติช่วงบ้าง ทำให้เป็นเกลียวหนังเนื้อทรายบ้าง ทำให้นุ่งหนังตนเองเหมือนนุ่งผ้าขี้ริ้ว
บ้าง ทำให้ยืนกวางบ้าง ทำให้เหมือนเนื้อติดเบ็ดบ้าง ทำให้เป็นชิ้นเท่ากหาปณะบ้าง
ทำให้เป็นที่รับน้ำด่างบ้าง ทำให้หมุนเหมือนกลอนเหล็กบ้าง ทำให้เป็นตั่งที่ทำด้วย
ฟางบ้าง ราดด้วยน้ำมันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง ให้นอนหงายบนหลาวทั้งที่ยัง
มีชีวิตอยู่บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
เขามีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะกรรมชั่วเช่นใดเป็นเหตุ พระราชารับสั่งให้จับ
โจรผู้มักประพฤติชั่ว แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิด คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัด
ศีรษะด้วยดาบบ้าง ก็ถ้าเราเองพึงทำกรรมชั่วเช่นนั้น พระราชาพึงรับสั่งให้จับเรา
แล้วให้ลงโทษทัณฑ์นานาชนิดอย่างนี้ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะด้วย
ดาบบ้าง” เขากลัวโทษที่ให้ผลในภพนี้ ไม่เที่ยวแย่งชิงสิ่งของของคนอื่น ๆ นี้เรียกว่า
โทษที่ให้ผลในภพนี้
โทษที่ให้ผลในภพหน้า เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นประจักษ์ดังนี้ว่า “ผลของกายทุจริตเป็นผลที่
เลวทราม เป็นทุกข์ ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน ผลของวจีทุจริตเป็นผล
ที่เลวทราม เป็นทุกข์ ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน ผลของมโนทุจริตเป็น
ผลที่เลวทราม เป็นทุกข์ ซึ่งบุคคลจะต้องได้รับในภพหน้าแน่นอน ก็ถ้าเราพึง
ประพฤติชั่วทางกาย ประพฤติชั่วทางวาจา ประพฤติชั่วทางใจ ความชั่วบางอย่างนั้น
พึงเป็นเหตุให้เราหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก” เขากลัวโทษ
ที่ให้ผลในภพหน้า จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต ละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต
ละมโนทุจริต บำเพ็ญมโนสุจริต บริหารตนให้บริสุทธิ์ นี้เรียกว่า โทษที่ให้ผลใน
ภพหน้า
ภิกษุทั้งหลาย โทษ ๒ ประการนี้แล
เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราจักกลัวโทษที่ให้ผล
ในภพนี้ จักกลัวโทษที่ให้ผลในภพหน้า จักเป็นคนขลาดต่อโทษ มีปกติเห็นโทษโดย
ความเป็นของน่ากลัว” เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล บุคคลผู้ขลาดต่อโทษ
มีปกติเห็นโทษโดยความเป็นของน่ากลัว พึงหวังเหตุแห่งความหลุดพ้นจากโทษ๑
ทั้งมวลได้
วัชชสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.