20-005 ผลแห่งจิตที่ตั้งไว้ผิดและถูก
พระไตรปิฎก
๕. ปณิหิตอัจฉวรรค
หมวดว่าด้วยผลแห่งจิตที่ตั้งไว้ผิดและถูก
{๔๒}[๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลย A ที่เดือยข้าว B
สาลีหรือเดือยข้าวเหนียวที่บุคคลตั้งไว้ไม่ตรงจักตำมือหรือเท้าที่ไปกระทบเข้า หรือ
ทำให้เลือดออก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งเดือยข้าวไว้ไม่ตรง แม้ฉันใด เป็นไป
ไม่ได้เลยที่ภิกษุรูปนั้นมีจิตที่ตั้งไว้ผิดจักทำลายอวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง) ให้วิชชา(ความ
รู้แจ้ง)เกิดขึ้น ทำนิพพานให้แจ้ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งจิตไว้ผิด ฉันนั้น
เหมือนกัน (๑)
{๔๓}[๔๒] เป็นไปได้ที่เดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวเหนียวที่บุคคลตั้งไว้ตรงจักตำมือ
หรือเท้าที่ไปกระทบเข้า หรือทำให้เลือดออก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งเดือยข้าวไว้
ตรง แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่ภิกษุรูปนั้นมีจิตที่ตั้งไว้ถูกจักทำลายอวิชชา ให้วิชชาเกิดขึ้น
ทำนิพพานให้แจ้ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตั้งจิตไว้ถูก ฉันนั้นเหมือนกัน (๒)
{๔๔}[๔๓] เรากำหนดจิต(ของผู้อื่น)ด้วยจิต(ของตน)อย่างนี้แล้วย่อมรู้ชัดบุคคลบาง
คนในโลกนี้ผู้มีจิตอันโทสะประทุษร้าย ถ้าบุคคลนี้ตายในสมัยนี้ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตของบุคคลนั้นถูกโทสะประทุษ
ร้าย ก็เพราะเหตุที่จิตยังคิดประทุษร้าย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงไป
เกิดในอบาย(ภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ) ทุคติ(ภาวะหรือที่ชั่ว) วินิบาต C (ที่
อันมีแต่ความร้อนรน) นรก (๓)
{๔๕}[๔๔] เรากำหนดจิต(ของผู้อื่น)ด้วยจิต(ของตน)อย่างนี้แล้วย่อมรู้ชัดบุคคลบาง
คนในโลกนี้ผู้มีจิตผ่องใส ถ้าบุคคลนี้ตายในสมัยนี้ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์เหมือนได้รับ
อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตของเขาผ่องใส ก็เพราะเหตุ
ที่จิตผ่องใส สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ (๔)
{๔๖}[๔๕] ห้วงน้ำที่ขุ่นมัว ไม่ใสสะอาด เป็นโคลนตม บุคคลผู้มีตาดี ยืนอยู่บนฝั่ง
มองไม่เห็นหอยโข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วยบ้าง ฝูงปลาที่ว่าย
ไปและหยุดอยู่บ้าง ในห้วงน้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำขุ่นมัว แม้ฉันใด ภิกษุ
รูปนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้เลยที่จักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้
ประโยชน์ทั้งสอง หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ D อันวิเศษยิ่ง
กว่าธรรมของมนุษย์ E ด้วยจิตที่ขุ่นมัว F ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตขุ่นมัว (๕)
{๔๗}[๔๖] ห้วงน้ำที่ไม่ขุ่นมัว ใสสะอาด บุคคลผู้มีตาดียืนอยู่บนฝั่งพึงมองเห็นหอย
โข่งและหอยกาบบ้าง ก้อนกรวดและกระเบื้องถ้วยบ้าง ฝูงปลาที่ว่ายไปและหยุดอยู่
บ้าง ในห้วงน้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะน้ำไม่ขุ่นมัว แม้ฉันใด ภิกษุรูปนั้น ก็ฉัน
นั้นเหมือนกัน เป็นไปได้ที่จักรู้ประโยชน์ตน รู้ประโยชน์ผู้อื่น รู้ประโยชน์ทั้งสอง หรือ
จักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถอันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตไม่ขุ่นมัว (๖)
{๔๘}[๔๗] บัณฑิตกล่าวว่าต้นจันทน์เป็นต้นไม้ที่เลิศกว่าต้นไม้ทุกชนิด เพราะเป็น
ของอ่อนและใช้งานได้ดี แม้ฉันใด เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ได้เจริญทำให้
มากแล้ว เป็นของอ่อนและควรแก่การใช้งานเหมือนจิตนี้ จิตที่ได้เจริญทำให้มาก
แล้วย่อมเป็นของอ่อนและควรแก่การใช้งาน (๗)
{๔๙}[๔๘] เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงเร็วเหมือนจิตนี้ จิตนี้
เปลี่ยนแปลงเร็วจนเปรียบเทียบกับอะไรไม่ได้ง่าย ๆ (๘)
{๕๐}[๔๙] จิตนี้ผุดผ่อง G แต่จิตนั้นแลเศร้าหมองเพราะอุปกิเลส H ที่เกิดขึ้น
ภายหลัง (๙)
{๕๑}[๕๐] จิตนี้ผุดผ่องและจิตนั้นแลหลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสที่เกิดขึ้นภายหลัง (๑๐)
ปณิหิตอัจฉวรรคที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A เป็นไปไม่ได้เลย หมายถึงปฏิเสธฐานะ(เหตุ) และปฏิเสธโอกาส(ปัจจัย)ที่ให้เป็นไปได้ (องฺ.เอกก.อ.
๑/๒๖๘/๔๐๒)
B หมายถึงส่วนปลายของเมล็ดข้าวเปลือก
C ในที่นี้ อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง ๓ คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๓/๕๐)
D ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญา(ปัญญาชั้นโลกุตตระที่ถึงความเป็น
ใหญ่)อันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด สามารถกำจัดกิเลสได้ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐)
E ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๕/๕๑)
F จิตที่ขุ่นมัว คือจิตที่ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๕/๕๑)
G จิต ในที่นี้หมายถึง ภวังคจิต คือจิตที่เป็นพื้นอยู่ระหว่างปฏิสนธิจิตกับจุติคือตั้งแต่เกิดจนถึงตายในเวลาที่
มิได้เสวยอารมณ์ทางทวาร ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น และคำว่า ผุดผ่อง หมายถึงผุดผ่องเพราะบริสุทธิ์
ไม่มีอุปกิเลส (องฺ. เอกก. อ. ๑/๔๙/๕๓-๕๔.)
H อุปกิเลส มี ๑๖ ประการ มีอภิชฌาวิสมโลภะ – คิดเพ่งเล็งอยากได้โดยไม่เลือกว่าควร หรือไม่ควร
เป็นต้น ( ม.มู. ๑๒/๗๒/๔๘-๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต