16-021 ทสพลญาณ
พระไตรปิฎก
๑. ทสพลสูตร
ว่าด้วยทสพลญาณ
{๖๔} [๒๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ … เขตกรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตประกอบด้วยทสพลญาณ A และจตุเวสารัชชญาณ B จึงยืนยัน
ฐานะที่องอาจ C บันลือสีหนาท D ในบริษัท E ทั้งหลาย ประกาศพรหมจักร F
ให้เป็นไปว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้
เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งสัญญา เป็นอย่างนี้
สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งสังขาร เป็นอย่างนี้
วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ความดับแห่ง วิญญาณเป็นอย่างนี้
เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้
จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป คือ เพราะ
อวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้”
ทสพลสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ทสพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์ทรงบันลือสีหนาท
ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้น
ของสิ่งทั้งหลาย (๒) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (๓) สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชา
หยั่งรู้ปฏิปทาที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (๔) นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะ
ของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก (๕) นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้น
ของสัตว์ทั้งหลาย (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย
(๗) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมองแห่งฌาน เป็นต้น (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
(๑๐) อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๔๘/๑๔๔-๑๔๘,
องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗, สํ.นิ.อ. ๒/๑๒/๕๐-๕๑ )
B จตุเวสารัชชญาณ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้ามมี ๔ ประการคือ (๑) สัมมา-
สัมพุทธปฏิญญา (๒) ขีณาสวปฏิญญา (๓) อันตรายิกธัมมวาทะ (๔) นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. (แปล)
๑๒/๑๕๐/๑๔๘-๑๔๙, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๘/๑๓-๑๔, สํ.นิ.อ. ๒/๒๒/๕๑-๕๒)
C ฐานะที่องอาจ หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน
(องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๖)
D บันลือสีหนาท หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทางที่องอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรง
มั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๓๒)
E บริษัท หมายถึงหมู่ คณะ ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท ๘ คือ (๑) ขัตติยบริษัท (๒) พราหมณบริษัท
(๓) คหบดีบริษัท (๔) สมณบริษัท (๕) จาตุมหาราชิกาบริษัท (๖) ตาวติงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่ง
สวรรค์ ๖ ชั้น) (๗) มารบริษัท (๘) พรหมบริษัท (ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗)
F พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ ได้แก่
ญาณที่แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (๒) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณที่แสดงถึงพระมหากรุณา
คุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง ๒ นี้ชื่อว่า โอรสญาณ (ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต