15-246 อาฬาวกยักษ์



พระไตรปิฎก


๑๒. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์
[๘๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในภพของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี
ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กล่าวกับพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ท่านจงออกมา สมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไป สมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านจงออกมาสมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไป สมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านจงออกมาสมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จออกมา
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “ท่านจงเข้าไป สมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ผู้มีอายุ” แล้วก็เสด็จเข้าไป
[๘๓๙] แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้อีกว่า
“ท่านจงออกมาสมณะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ผู้มีอายุ เราจักไม่ออกไปละ ท่านจะทำอะไรก็จงทำเถิด”
อาฬวกยักษ์ได้กล่าวว่า “สมณะ เราจักถามปัญหากับท่าน ถ้าท่านไม่
พยากรณ์ตอบแก่เรา เราจักทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน จักฉีกหัวใจของท่าน
หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยังฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เราไม่เห็นใครเลยในโลก พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะพึง
ทำจิตของเราให้พลุ่งพล่านได้ ฉีกหัวใจของเรา หรือจับเราที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปยัง
ฝั่งแม่น้ำคงคาข้างโน้นได้ เชิญท่านถามตามที่ท่านต้องการเถิด”
[๘๔๐] อาฬวกยักษ์ถามว่า
อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
ที่ประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้
อะไรเล่ามีรสล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิต
ของผู้เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด
[๘๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
ที่ประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้
ธรรม A ที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้
ความสัตย์แลมีรสล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงชีวิต
ของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา ว่าประเสริฐสุด
[๘๔๒] อาฬวกยักษ์ถามว่า
บุคคลข้ามโอฆะ B ได้อย่างไรเล่า
ข้ามอรรณพ B ได้อย่างไรเล่า
ล่วงทุกข์ได้อย่างไรเล่า บริสุทธิ์ได้อย่างไรเล่า
[๘๔๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
[๘๔๔] อาฬวกยักษ์ถามว่า
บุคคลได้ปัญญาอย่างไรเล่า
ทำอย่างไรเล่าจึงจะหาทรัพย์ได้
บุคคลได้เกียรติยศอย่างไรเล่า
ทำอย่างไรเล่าจึงจะผูกมิตรไว้ได้
บุคคลละโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้า
ทำอย่างไรเล่าจึงจะไม่เศร้าโศก
[๘๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์
เพื่อบรรลุนิพพาน ไม่ประมาท
มีความรอบคอบ ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
บุคคลผู้ทำการเหมาะเจาะไม่ทอดธุระ
ขยันหมั่นเพียร ย่อมหาทรัพย์ได้
บุคคลย่อมได้เกียรติยศเพราะความสัตย์
บุคคลเมื่อให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้
บุคคลอยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา
มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรม C ธิติ จาคะ
ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูชิว่า
ในโลกนี้มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ C ขันติ จาคะ เล่า
[๘๔๖] อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า
ทำไมเล่า ข้าพระองค์จึงต้องถามสมณพราหมณ์
เป็นอันมากในบัดนี้
วันนี้ ข้าพระองค์รู้ชัดถึงประโยชน์ในภายหน้า
พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
วันนี้ ข้าพระองค์รู้ชัดถึงทานที่บุคคลให้ในที่ใดมีผลมาก
ข้าพระองค์จักเที่ยวจากบ้านไปยังบ้าน
จากเมืองไปยังเมือง นอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระธรรมซึ่งมีส่วนชักนำให้เป็นคนดี
อาฬวกสูตรที่ ๑๒ จบ
เชิงอรรถ
A ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลธรรม ๑๐ ประการ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงธรรมมีทานและศีล เป็นต้น (สํ.ส.อ.
๑/๒๔๖/๓๑๑)
B โอฆะ ในที่นี้หมายถึงทิฏโฐฆะ อรรณพ หมายถึงภโวฆะ (ดูคำอธิบาย โอฆะ ในข้อ ๑ หน้า ๑) (สํ.ส.อ.
๑/๒๔๖/๓๑๓)
C ธรรมะ และ ทมะ ในที่นี้มีความหมายว่า ปัญญา เหมือนกัน (สํ.ส.อ. ๑/๒๔๖/๓๑๕-๓๑๖)

บาลี

อรรถกถา

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!