15-213 วาจาสุภาษิต



พระไตรปิฎก


๕. สุภาสิตสูตร
ว่าด้วยวาจาสุภาษิต
[๗๓๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มี
โทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
วาจาประกอบด้วยองค์ ๔ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. กล่าวแต่วาจาสุภาษิตอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาทุพภาษิต
๒. กล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม
๓. กล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก
๔. กล่าวแต่วาจาจริงอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเหลาะแหละ
ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้แล เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน”
[๗๓๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตบุรุษทั้งหลายกล่าววาจาสุภาษิตว่าเป็นวาจาสูงสุด
บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรมเป็นที่สอง
บุคคลพึงกล่าววาจาอันเป็นที่รัก
ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รักเป็นที่สาม
บุคคลพึงกล่าววาจาจริง
ไม่พึงกล่าววาจาเท็จเป็นที่สี่
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือ
ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาค เนื้อความนี้ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้
ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เนื้อความนั้นจงปรากฏแก่เธอเถิด วังคีสะ”
[๗๔๐] ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาทั้งหลาย
อันสมควร ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ว่า
บุคคลพึงกล่าวแต่วาจา
ที่ไม่เป็นเหตุทำให้ตนเดือดร้อน
และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนชนอื่น
วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต
บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก
ที่ชนทั้งหลายชื่นชอบ ไม่พึงพูดหยาบคายต่อชนเหล่าอื่น
พึงพูดแต่วาจาอันเป็นที่รัก
คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย
ธรรมนี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษทั้งหลายตั้งมั่นแล้วในคำสัตย์
ทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเกษม
เพื่อบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
พระวาจานั้นแล สูงสุดกว่าวาจาทั้งหลาย A
สุภาสิตสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดู ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๒๓๖-๑๒๓๙/๕๔๑

บาลี



สุภาสิตสุตฺต
[๗๓๘] สาวตฺถีนิทาน ฯ ตตฺร โข ภควา ภิกฺขู อามนฺเตสิ
ภิกฺขโวติ ฯ ภทนฺเตติ เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุ ฯ ภควา
เอตทโวจ จตูหิ ภิกฺขเว องฺเคหิ สมนฺนาคตา วาจา สุภาสิตา
โหติ โน ทุพฺภาสิตา อนวชฺชา จ อนนุวชฺชา จ วิฺูน ฯ กตเมหิ
จตูหิ ฯ อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ สุภาสิตเยว ภาสติ โน ทุพฺภาสิต
ธมฺมเยว ภาสติ โน อธมฺม ปิยเยว ภาสติ โน อปฺปิย สจฺจเยว
ภาสติ โน อลิก ฯ อิเมหิ โข ภิกฺขเว จตูหิ องฺเคหิ สมนฺนาคตา
วาจา สุภาสิตา โหติ โน ทุพฺภาสิตา อนวชฺชา จ อนนุวชฺชา จ
วิฺูนนฺติ ฯ
[๗๓๙] อิทมโวจ ภควา อิท วตฺวาน สุคโต อถาปร
เอตทโวจ สตฺถา
สุภาสิต อุตฺตมมาหุ สนฺโต
ธมฺม ภเณ นาธมฺมนฺต ทุติย
ปิย ภเณ นาปฺปิยนฺต ตติย
สจฺจ ภเณ นาลิกนฺต จตุตฺถนฺติ ฯ
อถ โข อายสฺมา วงฺคีโส อุฏฺายาสนา เอกส อุตฺตราสงฺค กริตฺวา
เยน ภควา เตนฺชลิมฺปณาเมตฺวา ภควนฺต เอตทโวจ ปฏิภาติ
ม ภควา ปฏิภาติ ม สุคตาติ ฯ ปฏิภาตุ ต วงฺคีสาติ ภควา
อโวจ ฯy
[๗๔๐] อถ โข อายสฺมา วงฺคีโส ภควนฺต สมฺมุขา สรูปาหิ
คาถาหิ อภิตฺถวิ
ตเมว วาจ ภาเสยฺย ยายตฺตาน น ตาปเย
ปเร จ น วิหึเสยฺย สา เว วาจา สุภาสิตา
ปิยวาจเมว ภาเสยฺย ยา วาจา ปฏินนฺทิตา
ย อนาทาย ปาปานิ ปเรส ภาสเต ปิย
สจฺจ เว อมตา วาจา เอส ธมฺโม สนนฺตโน
สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อาหุ สนฺโต ปติฏฺิตา
ย พุทฺโธ ภาสติ ๑ วาจ เขม นิพฺพานปตฺติยา
ทุกฺขสฺสนฺตกิริยาย สา เว วาจานมุตฺตมาติ ฯ

******************

๑ ม. ยุ. ภาสเต ฯ

อรรถกถา


อรรถกถาสุภาสิตสูตร
ในสุภาสิตสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า องฺเคหิ ได้แก่ ด้วยเหตุหรือด้วยส่วนทั้งหลาย. จริงอยู่
เหตุแห่งวาจาเป็นสุภาษิต ๔ มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากพูดคำเท็จเป็นต้น
หรือส่วน ๔ มีสัจจวาจาเป็นต้น. ก็บทว่า จตูหิ เป็นปัญจมีวิภัตติ ลงใน
องฺค ศัพท์ ซึ่งแปลว่าเหตุ เป็นตติยาวิภัตติ ลงใน องฺค ศัพท์ ซึ่งแปลว่า
ส่วน. บทว่า สมนฺนาคตา ได้แก่ มาตามพร้อมแล้ว คือเป็นไปแล้วและ
ประกอบแล้ว. บทว่า วาจา ได้แก่วาจาที่สนทนากัน. วาจา ที่มาในบาลี
มีอาทิอย่างนี้ว่า วาจาที่ใช้พูดกัน วาจาที่เปล่ง คำเป็นคลองดังนี้ก็ดี และว่า
วาจาอันหาโทษมิได้ สบายหู ดังนี้ก็ดี ชื่อว่า วาจา. แต่วิญญัติวาจ่าอย่างนี้ว่า
ถ้ากรรมอันบุคคลทำด้วยวาจาดังนี้ก็ดี วิรัติวาจาอย่างนี้ว่า ความงดเว้นจาก
วจีทุจริต ๔ ฯลฯ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา ดังนี้ก็ดี เจตนาวาจาอย่างนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย วาจาหยาบอันบุคคลส้องเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นทางแห่งนรกดังนี้ก็ดี นี้ใด วาจานั้น มาโดยชื่อว่า วาจา. วิญญัติวาจา
เป็นต้นนั้น ไม่ประสงค์เอาในบทว่า วาจานี้เพราะเหตุไร. เพราะไม่ใช่วาจา
ที่เขาพึงใช้พูดกัน. บทว่า สุภาสิตา ได้แก่ วาจา ที่เขาใช้พูดกันด้วยดี.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงความที่วาจาสุภาษิตนั้นว่านำมาซึ่ง
ประโยชน์. บทว่า โน ทุพฺภาสิตา ได้แก่ ไม่ใช่ทุพภาษิตวาจาที่เขาพูดชั่ว.
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงแสดงความที่วาจาทุพภาษิตนั้น ไม่นำ
ประโยชน์มาให้. บทว่า อนวชฺชา ได้แก่เว้น จากโทษมีราคะเป็นต้น. ด้วย
คำว่า อนวชฺชา นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความบริสุทธิ์แห่งเหตุของ
วาจานั้น และความไม่มีโทษ ประการ. บทว่า อนนุวชฺชา ได้แก่
พ้นแล้วจากคำติเตียน. ด้วยคำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมบัติแห่งเครื่อง
ประดับทั้งปวงของวาจานั้น. บทว่า วิญฺญูนํ ได้แก่ บัณฑิตทั้งหลาย. ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงว่า คนพาลถือเอาเป็นประมาณไม่ได้
ในการนินทาเเละสรรเสริญ. คำว่า สุภาสิตํ เยว ภาสติ นี้ เป็นคำแสดงไข
องค์แห่งวาจา ๙ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเทศนาเป็นปุคคลาธิฏฐาน.
บทว่า โน ทุพฺภาสิตํ นี้ เป็นการห้ามการพูดอัน เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์ของ
วาจานั้นนั่นแล. อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำว่า โน ทุพฺภาสิตํ นี้ พระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าทรงแสดงการละมิจฉาวาจา. ด้วยคำว่า สุภาสิตํ นี้ แสดงถึงลักษณะ
แห่งคำที่ผู้ละมิจฉาวาจาได้แล้วพึงพูด. แต่เพื่อแสดงถึงองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้า
มิไค้ตรัสคำที่ไม่ควรพูดก่อนแล้ว ตรัสแต่คำที่ควรพูดเท่านั้น. แม้ในคำว่า
ธมฺมํ เยว เป็นต้นก็นัยนี้. ก็ในองค์เหล่านั้น ด้วยองค์ที่หนึ่ง พระองค์ตรัส
ถึงคำที่กระทำความสมัครสมานอันเว้นจากโทษคือการส่อเสียด. ด้วยองค์ที่ ๒
ตรัสถึงคำประกอบด้วยเมตตา เว้นจากโทษสัมผัปปลาปะคือไม่ปราศจากธรรม.
ด้วย ๒ องค์นอกนี้ ตรัสถึงการกล่าวคำสัตย์ที่น่ารัก อันเว้นคำหยาบและคำ
เหลาะแหละ. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงองค์เหล่านั้น มีคำว่า อิเมหิ
โข เป็นต้น โดยประจักษ์ จึงตรัสย้ำคำนั้น . ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง
ปฏิเสธ แม้การกล่าวมุสาวาทเป็นต้น อันประกอบด้วยส่วนมีปฏิญญาเป็นต้น
ด้วยบทมีนามเป็นต้น และด้วยสัมบัติคือลิงค์ วจนะ วิภัตติ กาล และการก
เป็นต้น ที่คนเหล่าอื่นสำคัญว่าเป็นวาจาสุภาษิต. จริงอยู่ วาจาเห็นปานนั้น
แม้ประกอบด้วยส่วนเป็นต้น เป็นวาจาทุพภาษิต เพราะนำความเสียหายมาให้
ทั้งแก่ตน ทั้งแก่ชนเหล่าอื่น. ส่วนวาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ นี้ แม้ถ้าเป็น
วาจานับเนื่องในภาษามิลักขะก็ดี เป็นวาจานับเนื่องในเพลงขับของเด็กหญิง
ผู้นำหม้อนำก็ดี วาจาเห็นปานนั้น ชื่อว่า เป็นวาจาสุภาษิต เพราะนำมาซึ่ง
ความสุขทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ. จริงอย่างนั้น ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา
ประมาณ ๖๐ รูป กำลังเดินทางได้ยินเพลงขับของเด็กหญิงชาวสีหล ผู้รักษา
ไร่ข้าวกล้าข้างทาง กำลังขับเพลงขับที่เกี่ยวด้วยชาติชราและมรณะด้วยภาษา
ชาวสีหล ก็บรรลุพระอรหัต. อนึ่ง ภิกษุผู้ปรารภวิปัสสนา ชื่อว่า ติสสะ
กำลังเดินทางใกล้สระปทุม ได้ยินเพลงขับของเด็กหญิงผู้หักดอกปทุมในสระ-
ปทุมพลางขับเพลงนี้ว่า.
ดอกปทุมชื่อ โกกนทะ บานแต่เช้า
ตรู่ ย่อมเหี่ยวไปด้วยแสงอาทิตย์ ฉันใด
สัตว์หลายผู้ถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเหี่ยว
แห้งไป ด้วยกำลังกล้าแห่งชรา ฉันนั้น
แล้วบรรลุพระอรหัต. อนึ่ง บุรุษผู้หนึ่งในพุทธันดร (ในเวลาว่างพระพุทธเจ้า)
๑ กลับ จากดงพร้อมกับบุตร ๗ คน ฟังเพลงขับของสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังเอา
สากตำข้าวสารดังนี้ว่า
สรีระนี้อาศัยหนังมีผิวเหี่ยวแห้ง ถูก
ชราย่ำยีแล้ว สรีระนี้ถึงความเป็นอามิส
คือเหยื่อของมฤตยู ย่อมแตกไป เพราะ
มรณะ สรีระนี้เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ สรีระนี้เป็น
ภาชนะของไม่สะอาด สรีระนี้เสมอด้วย
ท่อนต้นกล้วย
พิจารณาอยู่ก็บรรลุปัจเจกโพธิญาณ พร้อมด้วยบุตรทั้งหลาย. วาจาประกอบ
ด้วยองค์ ๔ เหล่านี้ แม้ถ้านับเนื่องในภาษาของชาวมิลักขะ หรือนับเนื่องใน
เพลงขับของสตรีผู้ถือหม้อน้ำไปไซร้ ถึงกระนั้น ก็พึงทราบว่า เป็นวาจาสุภาษิต.
วาจาชื่อว่า ไม่มีโทษ ทั้งวิญญูชนผู้มุ่งประโยชน์ อาศัยแต่ใจความ ไม่ใช่อาศัย
แต่พยัญชนะ ไม่พึงติเตียน เพราะเป็นวาจาสุภาษิต.
บทว่า สรูปาหิ ได้แก่ สมควร. บทว่า อภิตฺกวิ ได้แก่ สรรเสริญ
แล้ว. บทว่า น ตาปเย ความว่า ไม่พึงทำตนให้เดือนร้อน คือไม่พึงเบียดเบียน
ตนให้ร้อนใจ. บทว่า ปเร ความว่า ไม่ทำลายผู้อื่นให้เดือนร้อน. พระวังคีสะ
ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยอปิสุณาวาจาด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า ปฏินนฺทิตา ได้แก่ ประพฤติเป็นที่น่ารักใคร่. บทว่า ยํ อนาทาย
ความว่า ท่านพระวังคีสะชมเชยด้วยอำนาจวาจาที่น่ารักว่า บุคคลเมื่อกล่าว
วาจาใด ไม่ถือเอาคำหยาบอันลามก ไม่เป็นที่รักของตนเหล่าอื่น กล่าวแต่คำ
เป็นที่รักซึ่งไพเราะทั้งอรรถะและพยัญชนะเท่านั้น พึงกล่าวแต่วาจานั้น.
บทว่า อมตา ได้แก่ เป็นวาจาเสมือนน้ำอมฤตเพราะยังประโยชน์
ให้สำเร็จ. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ คำสัตย์แล
ดีกว่ารสทั้งหลาย ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อมตวาจา เพราะเป็นปัจจัย
แห่งพระอมตมหานิพพาน. บทว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า ชื่อว่า
สัจจวาจานี้นั้นเป็นธรรม เป็นจรรยา เป็นประเพณีเก่า. จริงอยู่ คําสัจนี้แล
บัณฑิตปางก่อนประพฤติกันมาแล้ว. ท่านเหล่านั้นไม่กล่าวคำเหลาะแหละ.
ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ตั้งอยู่
ในสัจจะที่เป็นอรรถและเป็นธรรม ดังนี้.
ในพระบาลีนั้น พึงทราบว่า สัจจวาจานั้น ชื่อว่าตั้งอยู่ในประโยชน์
ตนและประโยชน์ผู้อื่น เพราะตั้งอยู่ในสัจจะนั่นแล และชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม
เพราะตั้งอยู่ในประโยชน์นั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า อรรถะ และ ธรรม
ทั้งสองนั้น เป็นวิเสสนะของคำว่า สัจจะ นั่นเอง. ความจริง ท่านกล่าวคำ
อธิบายไว้ดังนี้ว่า วาจานั้นตั้งอยู่ในสัจจะ ตั้งอยู่ในสัจจะเช่นไร. ตั้งอยู่ใน
สัจจะที่เป็นอรรถและเป็นธรรม ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ คือทำไม่ผิดประโยชน์
เพราะไม่ปราศจากประโยชน์ผู้อื่น ให้สำเร็จประโยชน์ที่เป็นธรรม คือประกอบ
ด้วยธรรมนั่นแล เพราะไม่ปราศจากธรรม. ท่านพระวังคีสะชมเชยพระผู้มี
พระภาคเจ้า โดยคำสัจด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้. บทว่า เขมํ ได้แก่
ปลอดภัย คือปราศจากอันตราย. หากจะถามว่า เพราะเหตุไร. พึงตอบว่า
เพราะถึงความดับ เพราะทำให้สิ้นทุกข์. อธิบายว่า เพราะให้ถึงความดับกิเลส
และเป็นไปเพื่อทำให้สิ้นทุกข์ในวัฏฏะ. อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสพระ-
วาจาใด ซึ่งเป็นวาจาเกษม เพราะประกาศมรรคอันเกษม เพื่อประโยชน์ของ
นิพพานธาตุทั้งสอง คือเพื่อถึงพระนิพพาน เพื่อทำให้สิ้นทุกข์. ในคำว่า
สา เว วาจานมุตฺตมา นี้ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า วาจานั้นประเสริฐ
ที่สุดแห่งวาจาทั้งปวง ดังนี้. ท่านพระวังคีสะเมื่อชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยคำประกอบด้วยปัญญา ด้วยคาถานี้ ให้จบเทศนาด้วยยอดธรรมคือพระ-
อรหัต ด้วยประการฉะนั้นแล.
จบอรรถกถาสุภาสิตสูตรที่ ๕

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!