15-030 พระผู้มีพระชงฆ์เหมือนเนื้อทราย



พระไตรปิฎก


๑๐. เอณิชังฆสูตร
ว่าด้วยพระผู้มีพระชงฆ์เหมือนเนื้อทราย
[๗๖] เทวดากล่าวว่า
พวกข้าพระองค์พากันมาเฝ้า ขอทูลถามพระองค์
ผู้มีพระชงฆ์เหมือนเนื้อทราย มีพระวรกายสมส่วน
มีความเพียร ฉันพระกระยาหารน้อย ไม่มีความโลเล
เป็นเหมือนราชสีห์และช้างเที่ยวไปตามลำพัง
ไม่มีความห่วงในกามทั้งหลาย
ว่า บุคคลหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
[๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามคุณ A ๕ มีใจเป็นที่ ๖
บัณฑิตประกาศไว้ชัดแล้วในโลก
บุคคลละความพอใจในนามรูป B นี้
ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้
เอณิชังฆสูตรที่ ๑๐ จบ
เชิงอรรถ
A กามคุณ หมายถึงกาม (สิ่งที่ทำให้เกิดความใคร่) (ที.สี.อ. ๑/๕๔๖/๓๓๕) ฉะนั้น กามคุณจึงหมายถึงสิ่งที่
ผูกพันสัตว์ไว้คือกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
B นามรูป ในที่นี้หมายถึงนาม คือใจ และรูป คือกามคุณ ๕ (สํ.ส.อ. ๑/๓๐/๕๓)

บาลี



เอณิชงฺฆสุตฺต
[๗๖] เอณิชงฺฆ กิส วีร อปฺปาหาร อโลลุป
สีหเวกจร นาค กาเมสุ อนเปกฺขิน
อุปสงฺกมฺม ปุจฺฉาม กถ ทุกฺขา ปมุจฺจตีติ ฯ
[๗๗] ปฺจ กามคุณา โลเก มโนฉฏฺา ปเวทิตา
เอตฺถ ฉนฺท วิราชิตฺวา เอว ทุกฺขา ปมุจฺจตีติ ฯ

อรรถกถา


อรรถกถาเอณิชังฆสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในเอณิชังฆสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-
บทว่า เอณิชงฺฆํ แปลว่า มีพระชงฆ์ (แข้ง) กลมเรียวเรียบ ดัง
แข้งเนื้อทราย. บทว่า กีสํ ได้แก่ มีพระสรีระสม่ำเสมอ ไม่อ้วน. อีก
อย่างหนึ่ง อธิบายว่า มีพระตจะ (หนึ่ง) มิได้เหี่ยวแห้ง คือ มีพระสรีระงาม
โดยมิต้องพอกพูนด้วยกลิ่นดอกไม้ และเครื่องลูบไล้ทั้งหลาย. บทว่า วีรํ
แปลว่า มีความเพียร.
บทว่า อปฺปาหารํ ได้แก่ มีอาหารน้อย เพราะความเป็นผู้รู้จัก
ประมาณในการเสวยพระกระยาหาร. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มีอาหารน้อย เพราะ
มิได้เสวยในเวลาวิกาล. บทว่า อโลลุปฺปํ แปลว่า ไม่มีความโลภ ได้แก่
ทรงปราศจากความอยากในปัจจัย ๔. อีกอย่างหนึ่ง ความไม่มีความโลภนี้ คือ
มิได้มีรสตัณหา. บทว่า สีหํเวกจรํ นาคํ ได้แก่เป็นเหมือนราชสีห์ และช้าง
ตัวประเสริฐเที่ยวไปโดดเดียว. เพราะว่าบุคคลผู้อยู่เป็นหมู่ ย่อมเป็นผู้ประมาท
ผู้เที่ยวไปแต่ผู้เดียว ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาท. เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ไม่
ประมาท ท่านจึงถือเอาว่า ผู้เที่ยวไปผู้เดียวนั่นแหละ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ปญฺจ กามคุณา โลเก มโนฉฏฺา ปเวทิตา
เอตฺถ ฉนฺทํ วิราชิตฺวา เอวํ ทุกฺขา ปมุจฺจติ.
กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิต
ประกาศแล้วในโลก บุคคลเลิกความพอใจ
ในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้
อย่างนี้.
บทว่า ปเวทิตา แปลว่า ประกาศแล้ว คือ บอกแล้ว. บทว่า เอตฺถ
แปลว่า ในนามรูปนี้. จริงอยู่ รูปท่านถือเอาด้วยสามารถแห่งกามคุณ ๕ ส่วน
นามท่านถือเอาใจ. ก็แล บัณฑิตควรถือเอานามและรูปทั้งสองโดยไม่แยก
จากกัน แล้วพึงประกอบพื้นฐานในนามและรูปนี้ ด้วยสามารถแห่งธรรมมีขันธ์ ๕
เป็นต้นเถิด.
จบอรรถกถาเอณิชังฆสูตร ที่ ๑๐

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!