12-315 พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค



พระไตรปิฎก


พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค
{๕๕๔} [๕๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พกพรหมได้กล่าวว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ เรากล่าวสิ่งที่เที่ยงว่า ‘เที่ยง’ กล่าวสิ่งที่มั่นคงว่า ‘มั่นคง’ กล่าว
สิ่งที่ยั่งยืนว่า ‘ยั่งยืน’ กล่าวสิ่งที่แข็งแรงว่า ‘แข็งแรง’ กล่าวสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อน
เป็นธรรมดาว่า ‘ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา’ ก็แลสัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติในพรหมสถานใด เรากล่าวถึงพรหมสถานนั้นว่า ‘พรหมสถานนี้
ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง
อื่นซึ่งไม่มีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มี’ สมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน
ได้มีแล้วในโลก อายุของท่านทั้งสิ้นมีประมาณเท่าใด กรรมที่ทำด้วยตบะของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้น จะพึงรู้การสลัด
ออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งมีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นมี’ หรือจะพึงรู้
การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งไม่มีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มี’
เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวกับท่านอย่างนี้ว่า ‘ท่านจักไม่เห็นการสลัดออกจากทุกข์
อย่างยิ่งอื่นเลย แม้ว่าท่านจักเป็นผู้มีความลำบากและความคับแค้นใจก็ตาม ภิกษุ
ถ้าท่านจักกลืนกินแผ่นดิน ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ของเรา
เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้ ถ้าท่านกลืนกินน้ำ … ถ้าท่านกลืนกินไฟ …
ถ้าท่านกลืนกินลม … ถ้าท่านกลืนกินเหล่าสัตว์ … ถ้าท่านกลืนกินเทวดา … ถ้าท่าน
กลืนกินปชาบดี … ถ้าท่านกลืนกินพรหม ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนใน
ที่อยู่ของเรา เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้’
เรากล่าวว่า ‘พรหม แม้เราก็รู้อย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักกลืนกินแผ่นดิน เราก็จัก
ชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึง
ห้ามได้ และถ้าเราจักกลืนกินน้ำ … ถ้าเราจักกลืนกินไฟ … ถ้าเราจักกลืนกินลม …
ถ้าเราจักกลืนกินเหล่าสัตว์ … ถ้าเราจักกลืนกินเทวดา … ถ้าเราจักกลืนกินปชาบดี …
ถ้าเราจักกลืนกินพรหม เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน
ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึงห้ามได้ ใช่แต่เท่านั้น เรารู้คติ และรู้ความ
รุ่งเรืองของท่านว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้
พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้’ พกพรหมถามเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านรู้คติและรู้
ความรุ่งเรืองของเราว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมาก
อย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้ได้อย่างไร’ เรากล่าวว่า
‘ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ย่อมโคจรส่องทิศให้สว่างอยู่เท่าใด
อำนาจของท่านย่อมเป็นไปใน ๑,๐๐๐ จักรวาลเท่านั้น
ท่านย่อมรู้จักสัตว์ที่เลวและสัตว์ที่ประณีต
รู้จักสัตว์ที่มีราคะและสัตว์ที่ไม่มีราคะ
รู้จักจักรวาลนี้และจักรวาลอื่น
และรู้จักการมาและการไปของสัตว์ทั้งหลาย’
พรหม เรารู้คติและรู้ความรุ่งเรืองของท่านอย่างนี้ว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มาก
อย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้’
[๕๐๔] พรหม หมู่พรหมอื่นมีอยู่ ท่านไม่รู้ ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้
เห็นหมู่พรหมนั้น หมู่พรหมชื่ออาภัสสรามีอยู่ ท่านเคลื่อนแล้วจากที่ใด มาอุบัติ
แล้วในที่นี้ ท่านมีสติหลงลืมไปเพราะอยู่อาศัยนานนัก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่รู้
ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้ เห็นหมู่พรหมนั้น เรากับท่านเทียบกันไม่ได้ด้วย
ปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรา
เท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน
หมู่พรหมชื่อสุภกิณหา มีอยู่ …
หมู่พรหมชื่อเวหัปผลา มีอยู่ …
หมู่พรหมชื่ออภิภู มีอยู่ ท่านไม่รู้ ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้ เห็นหมู่
พรหมนั้น เรากับท่านเทียบกันไม่ได้ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้
ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน
พรหม เรารู้จักดินโดยความเป็นดิน รู้จักนิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้ A โดยความ
ที่ดินเป็นดิน แล้วไม่เป็นดิน B ไม่ได้มีแล้วในดิน ไม่ได้มีแล้วจากดิน ไม่ได้มีแล้วว่า
ดินเป็นของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะดิน เราเทียบไม่ได้กับท่านด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้
อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่ง
กว่าท่าน เรารู้จักน้ำ … เรารู้จักไฟ … เรารู้จักลม … เรารู้จักเหล่าสัตว์ … เรา
รู้จักเทวดา … เรารู้จักปชาบดี … เรารู้จักพรหม … เรารู้จักอาภัสสรพรหม …
เรารู้จักสุภกิณหพรหม … เรารู้จักเวหัปผลพรหม … เรารู้จักอภิภูพรหม …
เรารู้จักสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นสิ่งทั้งปวง รู้จักนิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดย
ความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวงแล้วไม่เป็นสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีในสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มี
จากสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะสิ่งทั้งปวง
พรหม เราเทียบกับท่านไม่ได้ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้
ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน พกพรหม
กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าเพราะท่านรู้นิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่
สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง ถ้อยคำของท่าน อย่าได้ว่าง อย่าได้เปล่าเสียเลย’
นิพพานที่ผู้บรรลุจะพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสสนะ C เป็นอนันตะ D (ไม่สิ้นสุด) มี
รัศมีกว่าสิ่งทั้งปวง สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน โดยความที่น้ำเป็นน้ำ
โดยความที่ไฟเป็นไฟ โดยความที่ลมเป็นลม โดยความที่เหล่าสัตว์เป็นเหล่าสัตว์
โดยความที่เทวดาเป็นเทวดา โดยความที่ปชาบดีเป็นปชาบดี โดยความที่พรหม
เป็นพรหม โดยความที่อาภัสสรพรหมเป็นอาภัสสรพรหม โดยความที่สุภกิณห-
พรหมเป็นสุภกิณหพรหม โดยความที่เวหัปผลพรหมเป็นเวหัปผลพรหม โดย
ความที่อภิภูพรหมเป็นอภิภูพรหม โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง
พกพรหมกล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงดู บัดนี้ เราจะอันตรธาน
ไปจากท่าน’ เรากล่าวว่า ‘พรหม หากท่านสามารถ บัดนี้ ก็จงอันตรธานไปจาก
เราเถิด’ ครั้งนั้น พกพรหมกล่าวว่า ‘เราจักอันตรธานไปจากพระสมณโคดม เรา
จักอันตรธานไปจากพระสมณโคดม’ แต่ก็ไม่อาจอันตรธานไปจากเราได้เลย
เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับพกพรหมว่า ‘พรหม ท่านจงดู
บัดนี้ เราจะอันตรธานไปจากท่าน’ พกพรหมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ หากท่าน
สามารถ บัดนี้ ก็จงอันตรธานไปจากเราเถิด’ ลำดับนั้นเราบันดาลอิทธาภิสังขาร๑
เช่นนั้น ด้วยคิดว่า ‘ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหม-
ปาริสัชชะก็ดี ย่อมได้ยินเสียงเรา แต่มิได้เห็นตัวเรา’ เราอันตรธานไปแล้ว ได้
กล่าวคาถานี้ว่า
‘เราเห็นภัยในภพและเห็นภพของสัตว์
ผู้แสวงหาความปราศจากภพแล้ว
ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย
ทั้งไม่ยึดมั่นนันทิ๒ ด้วย’
{๕๕๕} ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหมปาริสัชชะก็ดี ได้
เกิดความแปลกประหลาดมหัศจรรย์จิตว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก่อนแต่นี้ เราทั้งหลายไม่ได้เห็น
ไม่ได้ยินสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนพระสมณโคดม
นี้ ผู้ออกผนวชจากศากยตระกูล ถอนภพพร้อมทั้งรากของหมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ในภพ
ยินดีในภพ เพลิดเพลินในภพ’
เชิงอรรถ
A ที่สัตว์เสวยไม่ได้ หมายถึงที่สัตว์ครอบครองไม่ได้ บรรลุไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน (ม.มู.อ.๒/๕๐๔/๓๒๐)
B แล้วไม่เป็นดิน หมายถึงไม่ยึดถือดินด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๐)
C อนิทัสสนะ หมายถึงสภาวะที่มองไม่เห็นเพราะอยู่เหนือจักขุวิญญาณ (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๑)
D อนันตะ หมายถึงไม่มีที่สุด เพราะไม่มีการเกิดขึ้นและการดับไป (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.