12-308 การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต



พระไตรปิฎก


การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต
{๕๓๗} [๔๘๘] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึง
พิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ ประการ คือ (๑) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตา
(๒) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางหูว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอัน
เศร้าหมองหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคต
มิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึง
รู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ตถาคต มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน A หรือไม่’ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกัน’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้
แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบ
ตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน หรือมีชั่วกาลนิดหน่อย’ เมื่อตรวจสอบตถาคต
นั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาล
ช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศ ท่านมีโทษบางอย่างในโลกนี้บ้างหรือไม่’ เพราะภิกษุ
ยังไม่มีโทษบางอย่างในโลกนี้ชั่วเวลาที่ตนยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มียศ แต่เมื่อมี
ชื่อเสียง มียศแล้ว ก็จะมีโทษบางอย่างในโลกนี้ ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว (แต่)มิได้
มีโทษบางอย่างในโลกนี้’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว
(แต่)มิได้มีโทษบางอย่างในโลกนี้’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจาก
สิ้นราคะ’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย
มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’
หากชนเหล่าอื่นจะพึงถามภิกษุนั้นว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้
ท่านกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว
เนื่องจากสิ้นราคะ’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องควรตอบอย่างนี้ว่า ‘จริงอย่างนั้น
ท่านผู้นี้อยู่ในหมู่หรืออยู่ผู้เดียว จะไม่ดูหมิ่นหมู่ชนในที่นั้น ผู้ดำเนินไปดี ดำเนิน
ไปชั่ว สั่งสอนคณะ บางพวกติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ และบางพวกไม่ติดอยู่ในอามิส
ในโลกนี้ เราได้สดับรับความข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘เราเป็น
ผู้ไม่มีภัย มิใช่เป็นผู้มีภัย เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่เสพกามเพราะปราศจาก
ราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’
เชิงอรรถ
A เจือกัน หมายถึงเป็นสิ่งผสมกัน กล่าวคือบางครั้งเป็นธรรมดำ บางคราวเป็นธรรมขาว (ม.มู.อ. ๒/๔๘๘/๒๘๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.