12-287 อินทรีย์ 5
พระไตรปิฎก
อินทรีย์ ๕
{๕๐๐} [๔๕๕] “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์
(๒) โสตินทรีย์ (๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ มีอารมณ์ต่างกัน
มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕
ประการนี้มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของ
กันและกัน จะมีอะไรเป็นที่อาศัย และธรรมอะไรรับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปแห่ง
อินทรีย์ ๕ ประการนั้น”
“ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์ (๒) โสตินทรีย์
(๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน
ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน เมื่ออินทรีย์เหล่านี้มีอารมณ์ต่างกัน
มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัย
และใจย่อมรับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์เหล่านั้น”
{๕๐๑} [๔๕๖] “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์
(๒) โสตินทรีย์ (๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ อินทรีย์ ๕
ประการนี้อาศัยอะไรดำรงอยู่”
“ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์ (๒) โสตินทรีย์
(๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้อาศัยอายุ A
ดำรงอยู่”
“อายุอาศัยอะไรดำรงอยู่”
“อายุอาศัยไออุ่น B ดำรงอยู่”
“ไออุ่นอาศัยอะไรดำรงอยู่”
“ไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่”
“ผมรู้ทั่วถึงภาษิตของท่านพระสารีบุตรในบัดนี้เองอย่างนี้ว่า ‘อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่และไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่’ แต่ผมจะพึงเข้าใจความแห่งภาษิตนี้ได้อย่างไร”
“ถ้าเช่นนั้น ผมจักอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมทราบ
ความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เมื่อประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัย
เปลวไฟจึงปรากฏ เปลวไฟก็อาศัยแสงสว่างจึงปรากฏอยู่แม้ฉันใด อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุดำรงอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”
[๔๕๗] “ท่านผู้มีอายุ อายุสังขาร C กับเวทนียธรรม D เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน”
“ท่านผู้มีอายุ อายุสังขารกับเวทนียธรรม ไม่เป็นอันเดียวกัน (ถ้า) อายุสังขาร
กับเวทนียธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญา-
เวทยิตนิโรธ ก็ไม่พึงปรากฏ แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมต่างกัน ฉะนั้น
การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงปรากฏ”
{๕๐๒} “เมื่อธรรมเท่าไรละกายนี้ไป กายนี้จึงถูกทอดทิ้งนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่
ปราศจากเจตนา”
“เมื่อธรรม ๓ ประการ คือ (๑) อายุ (๒) ไออุ่น (๓) วิญญาณ E ละกายนี้ไป
กายนี้จึงถูกทอดทิ้ง นอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา”
“สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างไร”
“สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร F ดับระงับไป
มีอายุหมดสิ้นไป ไม่มีไออุ่น มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต-
นิโรธมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขารดับ ระงับไป แต่อายุยังไม่หมดสิ้น
ยังมีไออุ่นมีอินทรีย์ผ่องใส
สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างนี้”
เชิงอรรถ
A อายุ ในที่นี้หมายถึงรูปชีวิตินทรีย์ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๖/๒๕๗-๒๕๙)
B ไออุ่น หมายถึงเตโชธาตุที่เกิดจากกรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๖/๒๕๗-๒๕๙)
C อายุสังขาร หมายถึงอายุนั่นเอง (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๘)
D เวทนียธรรม หมายถึงเวทนาธรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๘)
E วิญญาณ หมายถึงจิต (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๙)
F กายสังขาร หมายถึงลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร หมายถึงวิตกวิจาร จิตตสังขาร หมายถึงสัญญาเวทนา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต