12-272 ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ



พระไตรปิฎก


ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ
{๔๘๒} [๔๓๘] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามากก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาทก็ละพยาบาทได้
มีความมักโกรธก็ละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็ละความผูกโกรธได้ มีความ
ลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็ละความ
ริษยาได้ มีความตระหนี่ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็ละความโอ้อวดได้ มี
มารยาก็ละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็ละความปรารถนาที่เป็นบาปได้
มีความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดได้ เพราะละกิเลสที่เป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดุจ
น้ำฝาดของสมณะ เป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่ตนจะพึงเสวยในทุคติ
เหล่านี้ได้ เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’
ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้
เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้ ความ
ปราโมทย์จึงเกิด เมื่อมีความปราโมทย์ปีติจึงเกิด เมื่อใจมีปีติกายจึงสงบ เมื่อมี
กายสงบเธอจึงเสวยสุข เมื่อเธอมีสุขจิตจึงตั้งมั่น
เธอมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ … ทิศที่ ๒ … ทิศที่ ๓ … ทิศที่ ๔ …
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต … มีมุทิตาจิต … มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ … ทิศที่ ๒ … ทิศที่ ๓
… ทิศที่ ๔ … ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่
เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณี มีน้ำใสบริสุทธิ์ เย็นสะอาด มีท่าดี น่ารื่นรมย์
ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันออก ถูกความร้อนแผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย
อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความ
กระวนกระวายเพราะความร้อนได้ ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันตก … ถ้าบุรุษมาจาก
ทิศเหนือ … ถ้าบุรุษมาจากทิศใต้ … ถ้าบุรุษจะมาจากที่ไหน ๆ ก็ตามถูกความร้อน
แผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว
ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำและความกระวนกระวายเพราะความร้อนได้ แม้ฉันใด
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้วเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้
ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่
สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ …
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ …
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร …
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหน ๆ ก็ตามมาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาอย่างนั้น
ได้ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่
สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป’
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ …
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ …
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร …
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหน ๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ฉันนั้น
เหมือนกันแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬอัสสปุรสูตรที่ ๑๐ จบ
มหายมกวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬโคสิงคสูตร
๒. มหาโคสิงคสูตร
๓. มหาโคปาลสูตร
๔. จูฬโคปาลสูตร
๕. จูฬสัจจกสูตร
๖. มหาสัจจกสูตร
๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร
๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
๙. มหาอัสสปุรสูตร
๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.