12-250 พระธรรมคุณ



พระไตรปิฎก


พระธรรมคุณ
{๔๕๑} [๔๐๗] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึง A ขันธ์
ธาตุ อายตนะ ในอดีตกาลว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือ หรือมิได้มี
แล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วจึง
มาเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะในอนาคต
ว่า ‘ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือ หรือจักไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ
เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงมีความสงสัยภายในตนปรารภปัจจุบันกาล
ในบัดนี้ว่า ‘เราเป็นอยู่หรือ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ
สัตว์นี้มาจากไหนหนอ และเขาจักไปไหนกันหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระศาสดาเป็นครูของเรา
ทั้งหลาย เราทั้งหลายต้องกล่าวอย่างนี้ด้วยความเคารพต่อพระศาสดา’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณะตรัสอย่างนี้
และเราทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็กล่าวอย่างนี้’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่นบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงเชื่อถือข้อวัตร การตื่นลัทธิ และการถือ
มงคล B ของพวกสมณพราหมณ์ปุถุชน โดยเชื่อว่าเป็นแก่นสารบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดที่เธอทั้งหลายรู้เอง เห็นเอง ทราบเองแล้ว เธอทั้งหลายจะพึงกล่าว
ถึงเฉพาะสิ่งนั้นมิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เรานำเธอทั้งหลายเข้าไป
(ถึงนิพพาน)แล้วด้วยธรรมนี้ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย
กาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ เราจึงกล่าวไว้อย่างนี้”
เชิงอรรถ
A กลับระลึกถึง หมายถึงการแล่นไปตามอำนาจตัณหาและทิฏฐิด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ที่ทรงมุ่งจะตรัสถามว่า เมื่อรู้เห็นถึงปัจจัยแห่งการเกิดครบองค์ ๑๒ แล้ว มีความสงสัยอยู่อีกหรือไม่ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖, ม.มู. ฏีกา ๒/๔๐๗/๒๗๗)
B ข้อวัตร ในที่นี้หมายถึงวัตรเป็นคนใบ้ วัตรเยี่ยงช้าง วัตรเยี่ยงม้า วัตรเยี่ยงโค เป็นต้น (ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๑) การตื่นลัทธิ หมายถึงความยึดมั่นความเห็นของตนว่า “นี้จริง อย่างอื่นไม่จริง” การถือมงคล หมายถึงการยึดถือรูปหรือเสียง เป็นต้นว่าเป็นมงคล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖-๒๑๗, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๐๗/๒๗๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.