12-225 พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน



พระไตรปิฎก


พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน
[๓๖๑] (สัจจกะ นิครนถบุตร) ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ คำพูดนี้เป็นของข้าพเจ้าและของพวกสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
หยุดไว้ก่อน ถ้อยคำนั้นอาจเป็นแต่คำเพ้อเจ้อ พูดเพ้อกันไป
{๔๐๑} ด้วยเหตุเพียงเท่าไร สาวกของท่านพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน
ทำถูกตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อใครอีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์
นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง … สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง … สังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง …
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูก
ตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใคร
อีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
{๔๐๒} “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์
ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ”
“อัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือ
ละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน
ชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เห็นเวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง … เห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง … เห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง
… เห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ จึงหลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็น
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ
๑. ความเห็นอันยอดเยี่ยม
๒. ข้อปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
๓. ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม
เมื่อมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว A ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว B ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกตน พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสงบแล้ว C ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นทรงข้ามพ้นแล้ว D ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน”
เชิงอรรถ
A ตรัสรู้ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
B ฝึกพระองค์ หมายถึงปราศจากกิเลส (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๖๑/๒๕๕)
C สงบ หมายถึงสงบระงับกิเลสทั้งปวงได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
D ข้ามพ้น หมายถึงข้ามพ้นโอฆะ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.