12-193 กระพี้แห่งพรหมจรรย์



พระไตรปิฎก


กระพี้แห่งพรหมจรรย์
{๓๕๐} [๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ
แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่
ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะ A ให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า
‘เรารู้ เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้
กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไป เข้าใจ
กระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์
แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น
ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัวและไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทแล้วย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ
แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่
ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า
‘เรารู้ เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอากระพี้แห่งพรหมจรรย์ และถึง
ความพอใจด้วยกระพี้แห่งพรหมจรรย์นั้น
เชิงอรรถ
A ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอภิญญา ๕ ประการ [คือ
(๑) อิทธิวิธิ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
(๒)ทิพพโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
(๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้
(๔) ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
(๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์] (ม.มู.อ. ๒/๓๑๐/๑๓๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.