12-184 ปฐวีธาตุ



พระไตรปิฎก


ปฐวีธาตุ
{๓๔๒} [๓๐๒] ปฐวีธาตุ เป็นอย่างไร
คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ปฐวีธาตุภายนอกก็มี
ปฐวีธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูป A ภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ
ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ
พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า
‘ปฐวีธาตุภายใน’
ปฐวีธาตุภายใน และปฐวีธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นปฐวีธาตุนั่นเอง บัณฑิตควร
เห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็น
จริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิตให้คลาย
กำหนัดจากปฐวีธาตุ
เวลาที่อาโปธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ ในเวลานั้น ปฐวีธาตุภายนอก
จะอันตรธานไป ปฐวีธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความ
สิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา และมีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มี
ความยึดถือในปฐวีธาตุภายในนี้
หากชนเหล่าอื่นจะด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนภิกษุนั้น ภิกษุนั้น
รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ทุกขเวทนาอันเกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนา
นั้นอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร
จึงเกิดขึ้นได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้นได้’ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ‘ผัสสะ
ไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง’
จิตของภิกษุนั้นย่อมดิ่งไป ย่อมผ่องใส ดำรงมั่นและน้อมไปในอารมณ์คือธาตุนั่นแล
หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่
น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กาย
นี้เป็นที่รองรับการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง การทำร้าย
ด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง’ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ใน
พระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย B ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม
จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้าง เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ในพวกโจรนั้น
ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น’ อนึ่ง ความเพียร
ที่เราเริ่มทำแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เราตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม กายที่เราทำให้สงบ
แล้วจักไม่กระวนกระวาย จิตที่เราทำให้ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ คราวนี้ต่อให้
มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ การทำร้ายด้วยก้อนดิน การทำร้ายด้วยท่อนไม้ หรือการ
ทำร้ายด้วยศัสตราที่กายนี้ก็ตาม เราก็จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้
ให้จงได้
เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่
อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดหดหู่ใจ
เพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ
การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึก
ถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’ หญิงสะใภ้เห็น
พ่อผัวแล้วย่อมสลดหดหู่ใจ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อระลึกถึง
พระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอัน
อาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ย่อมสลดหดหู่ใจเพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภ
ของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ
ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม
และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว
เชิงอรรถ
A อุปาทินนกรูป หมายถึงรูปมีกรรมเป็น สมุฏฐาน คำนี้เป็นชื่อของรูปที่ดำรงอยู่ภายในสรีระ ที่ยึดถือ จับต้อง ลูบคลำได้ เช่น ผม ขน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า คำนี้กำหนดจำแนกหมายเอาปฐวีธาตุภายใน แต่สำหรับอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน พึงทราบความพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๐๒/๑๓๐)
B ดูข้อ ๒๓๒ (กกจูปมสูตร) หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.