12-175 ทรงพบอุปกาชีวก



พระไตรปิฎก


ทรงพบอุปกาชีวก
{๓๒๕} [๒๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะได้พบเราผู้กำลังเดินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ถามเราว่า ‘อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก
ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือท่านชอบใจธรรมของใคร’
เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวคาถาตอบอุปกาชีวกว่า
‘เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง A รู้ธรรมทั้งปวง B
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง C ละธรรมทั้งปวง D ได้สิ้นเชิง
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง
แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
เราไม่มีอาจารย E เราไม่มีผู้เสมอเหมือน
เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้งเทวโลก
เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
เราผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
เป็นผู้เยือกเย็น ดับกิเลสในโลกได้แล้ว
เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน‘F
อุปกาชีวกกล่าวว่า ‘อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ’
เราจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า
‘ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ’
เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า ‘อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น’
โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป
เชิงอรรถ
A ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
B ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
C ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
D ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
E เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗)
F ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๗, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๔๑/๔๑๒, อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕-๒๔๖

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.