12-079 จูฬสีหนาทสูตร การบันลือสีหนาท สูตรเล็ก
พระไตรปิฎก
๒. สีหนาทวรรค หมวดว่าด้วยการบันลือสีหนาท
๑. จูฬสีหนาทสูตร ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรเล็ก
สมณะ ๔ จำพวก
{๑๕๓} [๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
{๑๕๔} “ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่
ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ A ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง เธอทั้งหลายจงบันลือ
สีหนาท B โดยชอบอย่างนี้แล
[๑๔๐] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก(เจ้าลัทธิอื่น)ในโลกนี้ จะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘อะไรเล่าเป็นความมั่นใจของพวกท่าน อะไรเป็นพลังใจของพวกท่าน
พวกท่านพิจารณาเห็นอย่างไรในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่
๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มีธรรม ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้
ทรงเห็น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเรา
ทั้งหลายพิจารณาเห็น(ว่ามี)ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก
สมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเลื่อมใสในศาสดา
๒. ความเลื่อมใสในธรรม
๓. ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
๔. ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นที่รักเป็นที่พอใจ
ของเราทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น ทรงเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเราทั้งหลายพิจารณาเห็น
(ว่ามี)ในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒
มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
[๑๔๑] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดเป็น
ศาสดาของพวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในศาสดานั้น อะไรเป็นธรรมของ
พวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในธรรมนั้น ข้อใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวก
เราก็เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลนั้น แม้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรม
ร่วมกัน ก็เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกเรา ในข้อนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีความ
มุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างพวกท่านกับพวกเรา’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย จุดมุ่งหมาย C มีอย่างเดียว หรือมีหลายอย่าง’ พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายมีอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่มีหลายอย่าง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีราคะ
(ความกำหนัด) หรือผู้ปราศจากราคะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากราคะ
มิใช่สำหรับผู้มีราคะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโทสะ
(ความคิดประทุษร้าย) หรือผู้ปราศจากโทส’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจาก
โทสะ มิใช่สำหรับผู้มีโทสะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโมหะ
(ความหลง) หรือผู้ปราศจากโมหะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากโมหะ
มิใช่สำหรับผู้มีโมหะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีตัณหา
(ความทะยานอยาก) หรือผู้ปราศจากตัณหา’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากตัณหา มิใช่สำหรับผู้มีตัณหา’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มี
อุปาทาน(ความยึดมั่น) หรือผู้ปราศจากอุปาทาน’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อ
จะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากอุปาทาน มิใช่สำหรับผู้มีอุปาทาน’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง
หรือผู้ไม่รู้แจ้ง’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า
‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง มิใช่สำหรับผู้ไม่รู้แจ้ง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ยินดียินร้าย หรือผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
มิใช่สำหรับผู้ยินดียินร้าย’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจ
ในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า หรือผู้พอใจ
ในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า’ พวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้น
เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า มิใช่สำหรับผู้พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรม
อันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า’
เชิงอรรถ
A สมณะที่ ๑ หมายถึงพระโสดาบันผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า สมณะที่ ๒ หมายถึงพระสกทาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ
มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง กลับมาสู่โลกมนุษย์คราวเดียวแล้วจะตรัสรู้ได้ สมณะที่ ๓ หมายถึงพระ-
อนาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ เกิดในภูมิชั้นสุทธาวาสแล้ว จะนิพพานในภูมินั้น สมณะ
ที่ ๔ หมายถึงพระอรหันต์ ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๓-๓๒๔)
B บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการประกาศอย่างอาจหาญของภิกษุผู้กล่าวว่า “สมณะเหล่านี้มีในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น” ชื่อว่าการบันลือที่ประเสริฐคือการบันลือสีหนาทที่ไม่มีความเกรงกลัว ไม่ติดขัด เพราะเจ้าลัทธิ
อื่นไม่สามารถคัดค้านได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๖)
C จุดมุ่งหมาย ในที่นี้หมายถึงจุดหมายของความเลื่อมใส ซึ่งแต่ละลัทธิต่างก็มีจุดหมายที่แตกต่างกันไป
และมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น เช่น พวกพราหมณ์ก็มีพรหมโลกเป็นจุดมุ่งหมาย พวกดาบสก็มี
อาภัสสรพรหมเป็นจุดมุ่งหมาย แต่ในพุทธศาสนานี้มีจุดมุ่งหมายเดียว คืออรหัตตผล (ม.มู.อ. ๑/๑๔๐/๓๒๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต