12-073 ทุกขสัจจนิทเทส



พระไตรปิฎก


ทุกขสัจจนิทเทส A
{๑๔๖} [๑๒๐] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
[๑๒๑] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า ชาติ
[๑๒๒] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา
[๑๒๓] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
[๑๒๔] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายในของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)ผู้ที่ถูก
เหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ
[๑๒๕] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะ
ที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ
[๑๒๖] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์
[๑๒๗] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์ อันเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส
[๑๒๘] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้นของผู้ที่ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
นี้เรียกว่า อุปายาส
[๑๒๙] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่เป็นที่
ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนา
แต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนาความเกษมจากโยคะของ
เขา นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๐] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต นี้เรียกว่า
การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๑] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเรา
เลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
เป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้มีความแก่เป็นธรรมดา หรือขอความแก่อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้
ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา … เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา …
เหล่าสัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส
และความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัสและ
ความคับแค้นเป็นธรรมดาเลย และขอความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์
ความโทมนัสและความคับแค้นอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความ
ปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
[๑๓๒] ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ B ๕ ประการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์
คือเวทนา) สัญญูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือสังขาร) และวิญญาณูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
เหล่านี้เรียกว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นทุกข์
นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๙๐-๒๐๕/๑๖๓-๑๗๓
B ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.