12-066 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน



พระไตรปิฎก


เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
{๑๓๙} [๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อเสวยสุขเวทนา(ความรู้สึกสุข) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
๒. เมื่อเสวยทุกขเวทนา(ความรู้สึกทุกข์) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
๓. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’
๔. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส A ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส’
๕. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
๖. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส’
๗. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
๘. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส’
๙. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน B อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก C อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิด
ทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ
เชิงอรรถ
A ดู องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๖๙/๑๐๓
B เวทนาภายใน หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)
C เวทนาภายนอก หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.