12-031 อากังเขยยสูตร ความหวัง 17 ประการ
พระไตรปิฎก
๖. อากังเขยยสูตร A
ว่าด้วยความหวัง ๑๗ ประการ
{๗๓} [๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จง
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร B อยู่ จงเป็น
ผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย
{๗๔} [๖๕] ภิกษุทั้งหลาย
๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีล
ให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหิน
ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา C เพิ่มพูนเรือนว่าง D
{๗๕} ๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบ
ธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๗๖} ๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ขอสักการะของชน
เหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๗๗} ๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘ญาติสาโลหิต E เหล่าใดผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิต
เลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิต
เหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๗๘} [๖๖] ภิกษุทั้งหลาย
๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงข่มความไม่ยินดี(ในกุศลธรรม) และ
ความยินดี(ในกามคุณ ๕) อนึ่ง ความไม่ยินดี ไม่พึงครอบงำเรา
เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๗๙} ๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเอาชนะความขลาดกลัว อนึ่ง ความ
ขลาดกลัวไม่พึงครอบงำเรา เราพึงเอาชนะ ครอบงำ ย่ำยีความ
ขลาดกลัวที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๐} ๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ฌาน ๔ ซึ่งเป็นอภิเจตสิก F เป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
{๘๑} ๘. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิโมกข์ที่สงบ เป็นอรูปฌาน
เพราะก้าวล่วงรูปาวจรฌานด้วยนามกาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๒} [๖๗] ภิกษุทั้งหลาย
๙. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระโสดาบัน G เพราะสังโยชน์ H ๓
ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ I มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิ J ในวันข้างหน้า’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๓} ๑๐. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป (และ)เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง
กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน
ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๔} ๑๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นโอปปาติกะ K เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้อง
กลับมาจากโลกนั้นอีก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
{๘๕} [๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิธีแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้
แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง และภูเขา
ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบน
แผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้
ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’ ภิกษุนั้นพึง
ทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๖} ๑๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์
(๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๗} ๑๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นและบุคคลอื่น
คือ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิต
ปราศจากโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่า
‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ L ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’ หรือจิตไม่เป็น
มหัคคตะก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มี
จิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่
เป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิต
หลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๘} ๑๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑
ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐
ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง
๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป M เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้นเรา
มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ
มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น
เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เราระลึก
ชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้’
ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๘๙} ๑๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้ง
ชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก N
แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่าง
จากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
{๙๐} [๖๙] ภิกษุทั้งหลาย
๑๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ O ปัญญาวิมุตติ P
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรม
เครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นประโยชน์จึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์
มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จงสำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
อากังเขยยสูตรที่ ๖ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๑/๑๕๖
B คำว่า อาจาระ หมายถึงความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความสำรวมระวังในศีลทั้งปวง
และความที่ภิกษุไม่เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ คำว่า โคจร หมายถึงการไม่เที่ยว
ไปยังสถานที่ไม่ควรเที่ยวไป เช่น ที่อยู่ของหญิงแพศยา การไม่คลุกคลีกับบุคคลที่ไม่สมควรคลุกคลีด้วย
เช่น พระราชา การไม่คบหากับตระกูลที่ไม่สมควรคบหา เช่น ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส
ภิกษุผู้ประกอบด้วยอาจาระและโคจรดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร (อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๕๑๓-๕๑๔/๓๘๘-๓๘๙)
C วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา ๗ ประการ คือ (๑) อนิจจานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)
(๒) ทุกขานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์) (๓) อนัตตานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน)
(๔) นิพพิทานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่าย) (๕) วิราคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด) (๖) นิโรธานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับกิเลส) (๗) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็น
ความสลัดทิ้งกิเลส) (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙)
D เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนกัมมัฏฐาน คือ สมถะและวิปัสสนา เข้าไปสู่เรือนว่างนั่ง
พิจารณาอยู่ตลอดคืนและวัน แล้วบำเพ็ญอธิจิตตสิกขาด้วยสมถกัมมัฏฐาน บำเพ็ญอธิปัญญาสิกขาด้วย
วิปัสสนากัมมัฏฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๔/๑๖๙-๑๗๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗)
E ญาติ หมายถึงบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยาและเครือญาติของทั้ง ๒ ฝ่าย
สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่หรือตา เป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๗๒, ม.มู.ฏีกา
๑/๖๕/๓๒๙)
F อภิเจตสิก หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)
G โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘
(อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓ ดูประกอบใน สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๑/๔๙๕)
H สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ
(๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) กามฉันทะหรือกามราคะ (๕) พยาบาทหรือปฏิฆะ (๖) รูปราคะ
(๗) อรูปราคะ (๘) มานะ (๙) อุทธัจจะ (๑๐) อวิชชา
๕ ข้อต้นชื่อโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อหลังชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓
ข้อต้นได้ พระสกทาคามีทำสังโยชน์ที่ ๔ และที่ ๕ ให้เบาบาง พระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด
พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ (องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๑๓/๒๑)
I ไม่มีทางตกต่ำ หมายถึงไม่ตกไปในอบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และพวกอสูร
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒)
J สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๗/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
K โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น
เทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น (เทียบ ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดใน
สุทธาวาส (ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้น มีชั้นอวิหาเป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้น
กิเลสในสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๔๒-๒๔๓)
L มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและชั้นอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)
M ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้
N ชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความงอกงาม คือความเจริญหรือความสุข ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติ
คือเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นสถานที่ตกไปของหมู่สัตว์ที่ทำความชั่ว ชื่อว่า นรก เพราะ
ปราศจากความยินดี เหตุเป็นที่ไม่มีความสบายใจ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๓/๓๕๘)
O เจโตวิมุตติ หมายถึงสมาธิที่สัมปยุตด้วยอรหัตตผล ที่ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ(ที่เป็น
ปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/๓๓๔) ในที่นี้
หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีสมถกัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)
P ปัญญาวิมุตติ หมายถึงปัญญาที่สหรคตด้วยอรหัตตผลนั้น ที่ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจาก
อวิชชา(ที่เป็นปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/
๓๓๔) ในที่นี้หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ
องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต