12-025 วิชชา 3



พระไตรปิฎก


วิชชา ๓
{๔๘} [๕๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน A ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป B เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้
เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุ
วิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัด
ความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
{๔๙} [๕๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขา
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ คือ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
{๕๐} [๕๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว C ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว D ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘ E เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
{๕๑} [๕๕] พราหมณ์ บางคราวท่านอาจมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘แม้วันนี้ พระโคดม
ยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราเห็น
อำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ (๑) การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน
(๒) การอนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลัง จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ”
เชิงอรรถ
A กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนินคือราคะ โทสะ โมหะ มลทิน หรือเปือกตม ในที่
บางแห่ง หมายถึงพื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่า เนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตร
ประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑)
B สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ
คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)
C อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลส จบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ
ที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่า อเสขบุคคล (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘,
ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
D กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้แจ้ง
ซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
E ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้น
แห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ม.มู.อ.
๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.