12-023 เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า 16 ประการ



พระไตรปิฎก


เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ
{๓๐} [๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์
ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริว่า ‘เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่
ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำ
จิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้หวาดหวั่น’
{๓๑} เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ พระอริยะ A เหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดา
พระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้มีความปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑)
{๓๒} [๓๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีการ
เลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีการเลี้ยง
ชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มี
การเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ พระอริยะเหล่าใดมีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๒-๓-๔)
{๓๓} [๓๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีความกำหนัดกล้าในกามคุณทั้งหลาย
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ
เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษ
ของตนคือมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น และมีความกำหนัดกล้าในกามคุณ
ทั้งหลาย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่มีความกำหนัด
กล้าในกามคุณทั้งหลาย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดไม่มีปกติเพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
นั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๕)
{๓๔} [๓๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตวิบัติ มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความ
ขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีจิตวิบัติและมีความดำริชั่วร้าย
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตวิบัติ มิใช่มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตเมตตา พระอริยะเหล่าใดมีจิตเมตตา เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตเมตตานั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๖)
{๓๕} [๓๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) กลุ้มรุมแล้ว เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อม
ประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการถูก
ถีนมิทธะกลุ้มรุม ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ พระอริยะเหล่าใด
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๗)
{๓๖} [๔๐] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือเป็นผู้ฟุ้งซ่านและมีจิตไม่สงบ ส่วนเรา
มิใช่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มิใช่มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตสงบแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีจิตสงบ เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตสงบนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๘)
{๓๗} [๔๑] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ‘เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเคลือบแคลงสงสัย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้
เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้
ข้ามพ้นความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยแล้ว
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๙)
{๓๘} [๔๒] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการยกตนข่มผู้อื่น ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ยกตนข่ม
ผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ไม่ยกตนข่ม
ผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่นนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๐)
{๓๙} [๔๓] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและ
ความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความสะดุ้งกลัวและมักขลาด
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่า
โปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า พระอริยะเหล่าใดเป็น
ผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากความสะดุ้งกลัวนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๑)
{๔๐} [๔๔] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความ
กลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความปรารถนา
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ปรารถนาลาภสักการะและความ
สรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีความ
ปรารถนาน้อย พระอริยะเหล่าใดมีความปรารถนาน้อย เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๒)
{๔๑} [๔๕] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เกียจคร้าน ปราศจากความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้เกียจคร้าน
ปราศจากความเพียร ส่วนเรามิใช่เป็นผู้เกียจคร้าน มิใช่ปราศจากความเพียร
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปรารภความเพียร B
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ปรารภความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปรารภความเพียรนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๓)
{๔๒} [๔๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งขาดสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบ
ความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้
ขาดสติสัมปชัญญะ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีสติมั่นคง พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีสติมั่นคง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระ
อริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีสติมั่นคงนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๔)
{๔๓} [๔๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้ง
มั่นและมีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธินั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๕)
{๔๔} [๔๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ส่วนเรา
มิใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา เข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญานั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๖)
เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ จบ
{๔๕} [๔๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรอยู่ในเสนาสนะ
เช่นนี้ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ C อันน่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า
ในราตรีที่กำหนดรู้กันว่าวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ด้วยหวังว่า
‘เราจะได้เห็นความน่ากลัวและความขลาด’ ต่อมา เราได้อยู่ในเสนาสนะและราตรี
ดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะนั้น สัตว์ป่ามา นกยูงทำไม้ให้ตกลงมา
หรือลมพัดเศษใบไม้ให้ตกลงมา เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ความกลัวและความขลาด
นี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘เพราะเหตุไร เราจึงหวังเฉพาะ
แต่เรื่องความกลัวอยู่อย่างเดียว ทางที่ดี เราควรจะกำจัดความกลัวและความขลาด
ที่เกิดขึ้นแก่เราในอิริยาบถที่เราเป็นอยู่นั้น ๆ เสีย’ เมื่อเรากำลังจงกรมอยู่ ความกลัว
และความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน จะจงกรมอยู่ จนกว่า
จะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรายืนอยู่ ความกลัวและความขลาด
เกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่จงกรม ไม่นั่ง ไม่นอน จะยืนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัว
และความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะ
ไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม จะนั่งอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้
เมื่อเรานอนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม
จะนอนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้
เชิงอรรถ
A พระอริยะ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก (ม.มู.อ. ๑/๓๕/๑๒๓) และดูเทียบเชิงอรรถ
ข้อ ๒ หน้า ๒ ในเล่มนี้
B ปรารภความพียร ในที่นี้หมายถึงมีความเพียรที่บริบูรณ์ และมีความเพียรที่ประคับประคองไว้สม่ำเสมอ
ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ไม่ให้จิตปรุงแต่งภายใน ไม่ให้ฟุ้งซ่านภายนอก คำว่า ความเพียร ในที่นี้หมายเอา
ทั้ง ความเพียรทางกาย เช่น เพียรพยายามทางกายตลอดคืนและวัน ดุจในประโยคว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน” (อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๕๑๙/๓๙๑) และ ความเพียรทางจิต เช่น เพียรพยายามผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดสถานที่เป็นต้น ดุจ
ในประโยคว่า “เราจะไม่ออกจากถ้ำนี้จนกว่าจิตของเราจะหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน”
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘/๔๓)
C อารามเจดีย์ หมายถึงสถานที่ที่งดงามด้วยไม้ดอกและไม้ผล ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่กระทำให้
วิจิตร ทำให้น่าบูชา วนเจดีย์ หมายถึงชายป่าที่ต้องนำเครื่องพลีกรรมไปสังเวย ป่าสุภควันและป่าที่ตั้งศาล
เป็นที่สถิตของเทวดาเป็นต้น รุกขเจดีย์ หมายถึงต้นไม้ใหญ่ที่คนเคารพบูชาใกล้ปากทางเข้าหมู่บ้าน
หรือนิคมเป็นต้น โดยเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของเทวดาผู้มีฤทธิ์ (ม.มู.อ. ๑/๔๙/๑๒๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.